โครงการในพระราชดำริของพ่อหลวง ร.9
วันนี้วันพ่อแห่งชาติ ผมจึงอยากนำเสนอเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9ที่ทรงปรารถนาให้ปวงพสกนิกรชาวไทยอยู่ดีกินดีนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดมาตลอด 70 ปีแห่งรัชกาล ด้วยโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศ
สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกแห่งแรกในประเทศไทย นับจากวันที่พระองค์ท่านทรงขึ้นครองราชย์ไม่นาน
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการแรกคือ ถนนสายห้วยมงคล
เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2495 ที่บ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในขณะนั้นแม้ว่าบ้านห้วยมงคล
ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากตลาดหัวหิน แต่ก็ยังไม่มีถนนจากหมู่บ้านออกมาสู่ตลาดหัวหิน ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรปลูกพืชผลเช่น ข้าวโพด ผัก ผลไม้ หากจะขายพืชผลจะต้องบรรทุกใส่รถเข็นมาตามทางเดินใช้เวลาถึง 2 วัน 2 คืน กว่าจะถึงตลาดซึ่งบางครั้งพืชผลก็เน่าเสียก่อนที่จะขายได้ ถ้าจะให้เร็วต้องเช่าเหมารถจี๊ปที่สามารถบุกไปในถนนดินขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อได้ แต่ต้องเสียค่าเช่าเหมาถึงเที่ยวละ 500 บาท ซึ่งไม่คุ้มกับราคาพืชผลที่ขายได้
จึงเกิดโครงการพระราชดำริ ถนนสายห้วยมงคลขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้นนั่นเอง
โครงการแหล่งน้ำในพระราชดำริโครงการสุดท้ายของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง) ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการห้วยโสมงในช่วงระหว่างปี 2521-2544 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2552 อนุมัติให้เริ่มดำเนินการก่อสร้างระยะเวลาก่อสร้าง 9 ปี โดยกรมชลประทานเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นมา เป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน
ความเป็นมาของอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง โครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายในพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ว่าโปรดให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และปัญหาน้ำเค็มหนุนลุ่มน้ำแม่น้ำปราจีนบุรีในหน้าแล้ง เกิดจากสายพระเนตรอันกว้างไกล ที่ช่วยพลิกฟื้นชีวิตพสกนิกรใน จ.ปราจีนบุรี ให้พ้นจากภัยน้ำท่วม ภัยน้ำเค็มหนุน จนไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรกรรม และนำมาอุปโภคบริโภคได้ ส่งผลต่ออาชีพเกษตรกรรมไปยังลูกหลาน
ประโยชน์ที่ชาวปราจีนบุรีเห็นเป็นรูปธรรมหลังจากการกักเก็บน้ำในปี 2559 คือ พื้นที่บริเวณตลาดเมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่ด้วยโครงการของพ่อหลวง ทำให้คนในชุมชนตลอดจนพื้นที่ สองฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรีพ้นจากภัยน้ำท่วมและน้ำขังเป็นการถาวร และในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาช่วยระบายน้ำ เพื่อรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรี จึงยังคงผลิตน้ำประปาส่งให้ชุมชนได้ ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่ชาวบ้านจะไม่มีน้ำประปาใช้ในหน้าแล้งเพราะน้ำเค็มรุกเข้ามาครับ