โรคร่าเริง พฤติกรรมคนที่ใช้เวลาในตอนกลางคืน ทำงาน ท่องโลกโซเซียล จนล่วงเลยเวลาเข้านอน กลางวันไม่อยากตื่น กลางคืนไม่อยากหลับ กลายเป็นภัยใกล้ตัวอย่างคาดไม่ถึง ส่งให้สุขภาพเสื่อมโทรมโดยไม่รู้ตัว
ในทางการแพทย์ ‘โรคร่าเริง’ ไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ได้มีเขียนไว้ในตำรา และ ไม่มีชื่อโดยตรงเพราะ เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของคน สืบเนื่องจากพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำจนนำไปสู่โรคบางอย่าง
โรคร่าเริง (Lychnobite) คือ โรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตแบบขาดบาลานซ์ พบมากในวัยรุ่น วัยทำงาน ชาวออฟฟิศ สายงานครีเอทีฟ โปรแกรมเมอร์ คนทำงานกะกลางคืน มนุษย์ฟรีแลนซ์ เพราะ เทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ชีวิตต้องปรับไปตามยุคสมัย ผู้คนส่วนใหญ่จึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปทำงานในเวลากลางคืน เนื่องจากเป็นเวลาที่ค่อนข้างเงียบสงบ เหมาะกับการใช้ความคิด บางคนก็เลือกใช้ช่วงค่ำคืนท่องโลกโซเซียล จนล่วงเลยเวลาเข้านอน
ส่งผลให้มีอาการง่วงเหงาหาวนอนตลอดทั้งวัน ถือเป็นการใช้วงจรชีวิตผิดเวลาอย่างยิ่ง เพราะร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมนตามนาฬิกาชีวิต เมื่อถึงเวลานอนอวัยวะบางส่วนยังคงทำงานเพื่อหลั่งฮอร์โมนฟื้นฟูร่างกาย และ ชาร์จพลังเตรียมพร้อมรับมือกับวันต่อไป แต่หากใช้ช่วงเวลาวงจรชีวิตผิดปกติ จะทำให้ฮอร์โมนผิดเพี้ยนไปด้วย
พฤติกรรมการดำเนินชีวิตแบบกลางวันไม่อยากตื่น กลางคืนไม่อยากหลับ กลายเป็นภัยใกล้ตัวอย่างคาดไม่ถึง ส่งให้สุขภาพเสื่อมโทรมโดยไม่รู้ตัว
ชีวิตผิดเพี้ยนของมนุษย์ร่าเริง
- อ่านหนังสือ ทำงาน เล่นเกมหามรุ่งหามค่ำ จนแทบไม่ได้นอน
- ติดสมาร์ทโฟน ท่องโลกโซเซียลก่อนนอน แสงสีฟ้าจากหน้าจอกระตุ้นระบบประสาทให้ตื่นตัวจนไม่ง่วงนอน ทำให้นอนหลับได้ยากกว่าปกติ
- เกลียดการตื่นเช้า ง่วงเหงาหาวนอนตลอดวัน เมื่อนอนไม่เพียงพอ ทำให้ตื่นเช้าไม่ค่อยไหว รวมถึงฮอร์โมนที่ควรจะหลั่งในช่วงหลับก็หลั่งได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดอาการนอนหลับไม่สนิท จึงรู้สึกง่วงเหงาหาวนอนตลอดวัน
- ติดกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เมื่อรู้สึกง่วงในตอนกลางวัน มนุษย์ร่าเริงจะหันไปพึ่งกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว
- การทำงานของลำไส้ผิดเพี้ยน นาฬิกาชีวิตช่วงเช้าคือการทำงานของลำไส้ แต่หากใช้เวลาผิดเพี้ยนไป ไม่มีการตื่นขึ้นมาขับถ่าย และ กินอาหารในเวลาที่เหมาะสม จะส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย
- โกรทฮอร์โมนหดหาย ช่วง 4 ทุ่ม –ตี 2 เป็นเวลาที่โกรทฮอร์โมนหลั่งออกมาในขณะที่หลับ เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ช่วยซ่อมแซมเซลล์ ทำให้ร่างกายแข็งแรง และ ช่วยควบคุมความเครียด แต่มนุษย์ร่าเริงกลับอดหลับอดนอนในช่วงเวลาที่โกรทฮอร์โมนจะต้องทำงาน ทำให้ผิวพรรณไม่สดใส การเผาผลาญน้อยลง ส่งผลให้อยากกินของหวานเพิ่มมากขึ้น ทำให้อ้วนง่ายขึ้นตามไปด้วย
- ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว หากยังใช้ชีวิตแบบมนุษย์ร่าเริงต่อไปเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เนื่องจากความสมดุลของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป การเผาผลาญอาหารลดลง ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม รวมไปถึงเกิดโรคกลุ่มการเผาผลาญอาหาร (Metabolic Disorders) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต ในผู้หญิงอาจส่งผลให้เกิดปัญหาประจำเดือนผิดปกติ
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นคนเริงร่า แต่ไม่เป็นโรค !
- ควรเข้านอนตั้งแต่ไม่เกิน 4 ทุ่ม หรือ อย่างช้าสุดไม่ควรเกินเที่ยงคืน
- ออกกำลังกายในช่วงเช้า ช่วยให้ร่างกายสดชื่น มีพลังตลอดทั้งวัน กระตุ้นการทำงานของโกรทฮอร์โมน และ สร้างสมดุลให้กับฮอร์โมนตัวอื่น ๆ
- ปรับการกิน เพิ่มโปรตีน ลดกินแป้ง การได้รับคาร์โบรไฮเดรตในปริมาณที่มากเกินไป นอกจากจะทำให้น้ำหนักขึ้นยังทำให้ง่วงนอนในช่วงกลางวัน ลองหันมาเพิ่มปริมาณเนื้อสัตว์ เต้าหู้ ธัญพืชให้มากขึ้น เนื่องจากโปรตีนส่งผลให้ร่างกายกระฉับกระเฉงไม่อ่อนเพลีย
- สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ อาจหันมากินแป้งในมื้อเย็นจะช่วยทำให้หลับสบายขึ้น แต่ในกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนัก อาจต้องเลี่ยงเป็นการกินอาหารประเภทไฟเบอร์แทน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปริมาณสารอาหารทั้งหมดควรสมดุลเหมาะสมกับร่างกายแต่ละคนด้วย
- ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น หลังตื่นนอนให้ดื่มน้ำทันที เพื่อเพิ่มความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น จะช่วยลดความหนืดในเลือด เมื่อเลือดสูบฉีดได้ดี ทำให้ไม่รู้สึกอ่อนเพลีย
- กาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลัง ควรดื่มในช่วงเช้า เพื่อไม่ให้ตื่นตัวเกินไปในตอนกลางคืน จำกัดปริมาณการดื่มต่อวันให้น้อยลง