อาการของผู้ที่จะต้องได้รับการส่องกล้องลําไส้ใหญ่เพื่อตรวจหาถึงความผิดปกติที่อาจจะก่อให้เกิดเป็นโรคต่าง ๆ
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) คือ การตรวจหาความผิดปกติของภายในลำไส้ใหญ่ โดยการใช้กล้องขนาดเล็กประมาณนิ้วมือ มีความยืดหยุ่นสูง มีลักษณะคล้ายท่อสอดเข้าทางทวารหนักเข้าไปในลำไส้ตรง และตรวจสอบตลอดภายในลำไส้ใหญ่ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจเรียกว่า “Colonoscopy” หรือกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จะมีเลนส์รับภาพ แล้วส่งต่อมาที่จอภาพ เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแปลผลวินิจฉัยได้ถูกต้อง โดยการส่องกล้องลําไส้ใหญ่ควรทำในผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้
อาการของผู้ที่จะต้องได้รับการส่องกล้องลําไส้ใหญ่ตรวจหาถึงความผิดปกติและสิ่งที่สามารถตรวจพบได้มีดังนี้
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ เช่น ท้องผูก หรือท้องเสียเป็นประจำ หรือท้องผูกสลับท้องเสีย
- ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน อาจจะเป็นสีแดงสดหรือสีคล้ำ มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระมีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนักและมีเลือดออก
- มีการแน่นอึดอัดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้องร่วมด้วย
- มีก้อนในท้อง น้ำหนักลด ซีด อ่อนเพลีย
- ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจทางทวารหนักโดยการส่องกล้องทุก ๆ 3-5 ปี
สิ่งที่ตรวจพบจากการส่องกล้อง
- ริดสีดวงทวาร
- ลำไส้อักเสบ
- ติ่งเนื้อ
- ถุงโป่งจากลำไส้ใหญ่ (Diverticulum)
- เนื้องอก
ถึงแม้ว่าในการตรวจโดยส่องกล้องลําไส้ใหญ่จะเป็นวิธีการที่มีความปลอดภัยสูง แต่ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น มีบาดแผลที่อาจเกิดขึ้นที่บริเวณผนังลำไส้ใหญ่ , ภาวะเลือดออกภายในลำไส้ในกรณีที่ตัดก้อนเนื้อไปตรวจ ซึ่งหากมีภาวะนี้เกิดขึ้นแพทย์จะทำการให้เลือดกับผู้ป่วย หรือนำกล้องออกมาจากลำไส้ก่อนเพื่อรอให้เลือดหยุดแล้วจึงใส่กลับเข้าไปใหม่ , อาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรือปวดมวนท้องเล็กน้อยหลังรับการส่องกล้อง ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้นค่ะ