ตำนานเมืองลับแล
ตำนานเมืองลับแล
เมืองลับแลนี้ ได้ชื่อลับแลเพราะเป็นอำเภอเล็กๆ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ การที่จะเดินทางไปมาไม่สะดวก มีเส้นทางที่คดเคี้ยว ทำให้คนที่ไม่ชำนาญทางพลัดหลงได้ง่าย จนได้ชื่อว่าเมืองลับแล ซึ่งแปลว่า มองไม่เห็น แต่ในอีกการเล่าขานหนึ่งก็คือ ในสมัยก่อนนั้น มีภูมิประเทศเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีบรรยากาศเยือกเย็นแม้ยามพลบค่ำตะวันจะยังไม่ตกดินก็จะมืดแล้ว เพราะมีดอยม่อนฤๅษีเป็นฉากกั้นแสงอาทิตย์ ป่านี้จึงได้ชื่อว่า "ป่าลับแลง" แลง ที่แปลว่า เวลาเย็น ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น "ลับแล" ซึ่งก็กลายมาเป็นชื่ออำเภอลับแลในสมัยปัจจุบัน
เมืองลับแลเขตห้ามพูดโกหก คำกล่าวนี้มีที่มาจาก ตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า มีครั้งหนึ่งหนุ่มเมืองทุ่งยั้ง เดินทางหลงไปในป่าเมืองลับแล แล้วไปพบสาวงามมาแอบซ่อนของไว้ ชายหนุ่มจึงแอบขโมยของนั้นมาและใช้เล่ห์กล จนสาวหลงเชื่อพาเข้าไปอยู่กินเป็นสามีในเมืองลับแล ชายหนุ่มได้เห็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์และมีแต่สาวสวย ด้วยเหตุนี้เมืองลับแลจึงเป็นเมืองลี้ลับคนภายนอกไม่สามารถเข้าไปได้ และชาวเมืองลับแลจะยึดมั่นในศีลธรรมอันดีงาม เคร่งครัดในการปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ ไม่มีการพูดโกหกหรือหลอกลวงกัน อยู่มาวันหนึ่งชายหนุ่มกับหญิงสาวมีลูกด้วยกัน แต่หญิงสาวออกไปทำธุระนอกบ้าน ชายผู้นี้อยู่กับลูกแต่เด็กร้องไห้ งอแงอยากหาแม่ จนชายผู้นี้พูดโกหกลูกว่า แม่มาแล้ว หวังจะให้เด็กหยุดร้องไห้ แต่ชาวบ้านได้ยินเข้าว่าหนุ่มผู้นี้พูดคำโกหก จึงขับไล่ออกจากหมู่บ้าน หญิงสาวสงสารไม่รู้จะช่วยอย่างไร ได้แต่เก็บของใส่ย่ามให้โดยบอกว่าห้ามเปิดดูก่อนถึงบ้าน ระหว่างทางชายผู้นี้ได้เปิดดูก่อนเห็นว่าเป็นขมิ้น จึงหยิบทิ้งไปตามทางเพราะหนัก แต่พอถึงบ้านเหลือขมิ้นติดย่ามอยู่นิดหน่อยพอเปิดออกดูพบว่าเป็นทองคำ หวังจะกลับไปเก็บตามทางแต่ก็ไม่พบแล้วทั้งทองคำและทางเข้าเมืองลับแล