งดเหล้าเข้าพรรษา กฎหนึ่งศาสนาบังคับใช้ทั้งสังคม
ใกล้วันเข้าพรรษา บางคนเตรียมของทำบุญตักบาตร บางคนไปหล่อเทียนพรรษา บางคนถวายผ้าอาบน้ำฝน แล้วก็มีบางคนเตรียม ‘ตุนเหล้าเบียร์’ เก็บไว้ เพราะวันนั้นจะหาดื่มได้ยากกกกกกกกกกกกกกมากกกกกกกกกก
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนจะมีโอกาส ได้เข้าวัดทำบุญร่วมกิจกรรมกับคนในชุมชน หาศิริมงคลเข้าตัว ปฏิบัติตามหลักคำสอนอย่างเคร่งครัด ด้วยความเชื่อที่ว่า วันพระจะทำให้บุญแรงขึ้น
จากหลักคำสอนทางศาสนา สู่กฎหมายงดจำหน่ายเหล้าเบียร์
‘งดเหล้าช่วงเข้าพรรษา’ เป็นแนวคิดที่อาจจะเคย ได้ยินกันมาบ้าง หลายครั้งที่หน่วยงานภาครัฐ มีเป้าหมายหลักเพื่อลดสถิติ การดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย เสริมสร้างสุขภาพที่ดี และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ ที่เกิดจากความมึนเมา ที่ผ่านมามีการพยายามก่อตั้ง โครงการมากมาย ผ่านการสื่อสารหลายรูปแบบ และเมื่อความเป็นห่วง ของภาครัฐและความเป็นเมืองพุทธมารวมกัน
ก็เลยออกมาเป็น พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ถ้าหากฝ่าฝืน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำให้ในวันสำคัญทางศาสนาดังกล่าว
มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เพื่อคุมเข้มร้านค้าทั่วเมือง พร้อมกับกระดาษ ติดอยู่หน้าตู้แช่ในร้านสะดวกซื้อว่า ‘ขออภัย งดจำหน่ายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ทุกชนิด’ เห็นแบบนี้แล้วก็ดีจังเลยนะ ที่มีคนเป็นห่วงสุขภาพเราขนาดนี้ แถมยังอยากให้เรา ได้บุญได้กุศล นุ่งขาวห่มขาวนั่งสวดมนต์ และเคร่งปฏิบัติในศีลข้อ 5 อีก แต่คำถามคือ แล้วคนที่นับถือศาสนาอื่น หรือคนที่ไม่มีศาสนาล่ะ?
กฎหมายที่หลงลืมความหลากหลายทางสังคม
จากการสำรวจสภาวะทางสังคม จากครัวเรือนตัวอย่าง 27,960 ครัวเรือน ในปี พ.ศ.2561 โดยสำนักงานสถิติฯ เผยว่า ประชากรในประเทศไทย นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 93.5 รองลงมา ได้แก่ ศาสนาอิสลามร้อยละ 5.4 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 1.1 และไม่มีศาสนาน้อยกว่าร้อยละ 0.1 แม้เราจะเห็นว่าศาสนาพุทธ คือศาสนาที่คนส่วนใหญ่ ในประเทศนับถือ
แต่เหตุผลในการนับถือ ศาสนาของคนเรา บางทีก็อาจจะเป็นแค่ การนับถือตามผู้ปกครอง กรอกไว้ในบัตรประชาชนเฉยๆ หรือเขียนไว้ในประวัติ เพื่อที่จะได้สมัครงานง่ายๆ แต่ถ้าถามถึงเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ของพวกเขาจริงๆ อาจไม่ใช่ศาสนาก็ได้ แต่เป็นของกินอร่อยๆ เพลงเพราะๆ หนังสนุกๆ หรือถ้าวันนึงโลกนี้มีศาสนาเบียร์ ศาสนาไวน์ ศาสนาคอนเสิร์ต ก็คงมีสัดส่วนของประชากร ที่น่าตกใจอยู่พอควร
เมื่อกฎหมายครอบคลุม โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางสังคม หรือวิถีชีวิตที่สร้างความผ่อนคลาย ก็ย่อมส่งผลให้คนบางกลุ่ม เกิดความไม่พอใจ กล่าวคือ ถ้าฉันนับถือศาสนา ที่ไม่ห้ามดื่มเหล้าเบียร์ ฉันจะไปหาซื้อได้จากที่ไหนล่ะเนี่ย? จึงได้ลองไปถามความเห็น คนที่ไม่นับถือศาสนาว่า พวกเขาคิดเห็นอย่างไร กับข้อห้ามนี้บ้าง
“ทั้งๆ ที่เราอยากให้ทุกคน ในสังคมเท่าเทียมกัน แต่ทำไมเราถึงเอาหลักศาสนาเดียว มากำหนดการกระทำของคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะในประเทศ ที่มีความหลากหลายทางศาสนา อย่างประเทศไทย” “การเชิญชวนให้งดดื่มเหล้าเบียร์ 3 เดือนเป็นเรื่องที่ดี แต่การงดจำหน่ายไปเลย อันนี้คิดว่ามันไม่น่าจะต้อง ครอบคลุมขนาดนั้น เพราะประเทศเราไม่ได้มีศาสนาเดียว”
“ไม่ควรนำศาสนามาตั้งกฎหมาย ขนาดอิสลามไม่กินเนื้อหมู เราก็ยังขายเนื้อหมูกันได้ มันก็เป็นทางเลือกของเขาที่จะไม่กิน แต่ทำไมพอเป็นเหล้าเบียร์ เราถึงเอาศีลข้อ 5 ของศาสนาพุทธ มากำหนดพฤติกรรมของคนศาสนาอื่นด้วย เราคิดว่าการทำด้วยใจ มันน่าดีกว่าการโดนบังคับ”
การบังคับที่อาจใช้ไม่ได้ผล
การลดนักดื่มหน้าเก่าหน้าใหม่ ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ามีเจตจำนง เพื่อลดอุบัติเหตทางรถยนต์ หรือความประมาทอื่นๆ ที่ตามมา แต่การห้ามดื่มสุรา ในวันสำคัญทางศาสนา ถึงขึ้นที่งดจำหน่าย ให้กับคนศาสนาอื่นด้วยนั้น ดูจะเป็นกฎหมาย ที่ริดลอนสิทธิกันเกินไป อีกทั้งกฎหมายนี้ ยังทำให้ผู้คนรู้สึกว่า ที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อยู่ทุกวัน กตัญญูต่อบุพการีมาทั้งปี กินเบียร์ในวันเข้าพรรษาวันเดียว จะกลายเป็นคนบาปเลยรึเปล่า?
แล้วการบังคับเช่นนี้ ท้ายที่สุดแล้วนำไปสู่อะไร? ในเมื่อกินเบียร์มาทั้งปี งดกินแค่วันเข้าพรรษา หรือวันอาสาฬหบูชาเพียงไม่กี่วัน หรือจริงๆ แล้วรัฐมองว่า ‘อย่างน้อย’ ก็ลดได้ 1-2 วันแหละนะ แต่ยังไงก็ฟังดูไม่นำไปสู่ ผลลัพธ์ในระยะยาวอยู่ดี เพราถ้าคนเราอยากดื่มจริงๆ ก็จะหาทางดื่มให้ได้ในที่สุด (จากใจคนที่เคยยืนเปิดกระป๋องเบียร์ หน้าร้านของชำในซอยลับ เมื่อคืนวันเข้าพรรษา)
ทฤษฎี Nudge Theory ของริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) หรือทฤษฎีผลักดัน เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยการปรับเปลี่ยน พฤติกรรมผู้คนแบบแยบยล หรือจูงใจคนด้วยการ ไม่ออกคำสั่งบังคับ แต่เป็นการออกแบบสถานการณ์ สภาพแวดล้อม หรือสร้างแรงจูงใจ
ให้ผู้คนมีพฤติกรรมตามที่เราคาดหวังไว้ เช่น การติดจำนวนแคลอรี่ ในแต่ละขั้นบันได เพื่อชักชวนให้คนอยากเดินขึ้นบันไดมากขึ้น หรือการทำถังขยะให้มีลูกเล่น เพื่อดึงดูดให้คนอยากทิ้งขยะลงถังมากขึ้น
อ้างอิงจาก: https://payoncebiz.com/