แปลกมาก! หนอนเรือ (shipworms) ชนิดใหม่ที่ฟิลิปปินส์ พบเจาะกินหิน และขับทรายออก
แปลกมาก! หนอนเรือ (shipworms) ชนิดใหม่ที่ฟิลิปปินส์ พบเจาะกินหิน และขับทรายออก
ความมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกล้วนมีความน่าทึ่งและชวนให้ศึกษาเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกันกับ 'หอยสองฝา' ชนิดหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ได้ทั้งในทะเลและน้ำจืด ถูกค้นพบโดยนักวิจัยจากศูนย์ Northeastern’s Ocean Genome Legacy Center ที่สร้างความประหลาดใจให้กับเหล่านักวิจัยเป็นอย่างยิ่ง
รายงานระบุว่า นักวิจัยได้ค้นพบ 'หนอนเรือ' หรือ 'เพรียงเรือ' ชนิดหนึ่ง ที่เจริญเติบโตอย่างผิดปกติในภายในแม่น้ำอาบาตัน (Abatan River) ของประเทศฟิลิปปินส์ โดยหนอนเรือชนิดนี้ค่อนข้างแตกต่างจากหนอนเรือชนิดอื่น ๆ ซึ่งโดยปกติจะเจาะและกินเนื้อไม้ แต่หอยสองฝาที่พบนี้กลับกินหินและขับถ่ายทรายออกมา
จากข้อมูลทราบว่า หนอนเรือเหล่านี้ถูกพบเห็นครั้งแรกในปี 2549 กระทั่งถึงปี 2561 นักวิจัยจึงสามารถศึกษารายละเอียดของหนอนเรือชนิดนี้ได้ เนื่องจากชาวบ้านได้พาทีมนักวิทยาศาสตร์ไปที่หน้าผาหินโคลนริมแม่น้ำอาบาตันที่มีหอยสองฝาอาศัยอยู่ ซึ่งนักวิจัยชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสกุลและสปีชีส์ใหม่ของ 'หนอนเรือ' หรือ 'เพรียงเรือ'
เพรียง หรือ shipworms ชื่อหอยทะเลกาบคู่ในวงศ์ Teredinidae ลำตัวยาวอ่อนนุ่ม เปลือกเล็กมากคลุมเฉพาะด้านหัว นั่นจึงทำให้พวกมันดูเหมือนหนอนมากกว่าหอย พวกมันเจาะกินเนื้อไม้ มีหลายชนิด เช่น ชนิด Lyrodus pedicellatus และที่ค้นพบล่าสุดนี้คือ เพรียงที่กินหินเป็นอาหาร
ทั้งนี้ ชาวเมืองโบโฮล (Bohol) รู้จักหนอนเรือกินหินมานานแล้ว โดยคนในท้องถิ่นรู้จักกันในชื่อ "Antingaw" พวกเขาเชื่อว่าการกินหนอนเรือชนิดนี้จะช่วยกระตุ้นน้ำนม เหมาะสำหรับแม่ที่กำลังให้นมบุตร โดยเฉพาะแม่ที่อายุน้อย
และต่อมานักวิจัยได้ค้นพบว่าหนอนเรือชนิดนี้กินหินได้อย่างไร ซึ่งพบว่าเพรียงกินหินมีลักษณะตัวที่ยาว ค่อนข้างอ้วน และแข็งแรง พวกมันมีฟันที่ใหญ่กว่า ซึ่งแตกต่างจากหนอนเรือกินไม้อย่างเห็นได้ชัด