ความเสมอภาค 平等
ความเสมอภาค (Equality) เป็นมโนทัศน์พื้นฐานที่สุดเรื่องหนึ่งไม่ว่าจะกล่าวในมิติทางการเมืองหรือในทางเศรษฐกิจ คนทั่วไปมักสับสนคำว่า “เสมอภาค” กับ “เหมือนกัน” (sameness) กล่าวคือ คิดว่าการรับรองความเสมอภาคของมนุษย์เท่ากับการทำให้มนุษย์ทุกคนเท่ากัน จนมักโต้แย้งว่าความเสมอภาคไม่มีทางเป็นไปได้ จึงควรทำความเข้าใจเบื้องต้นว่าหลักการของความเสมอภาค ไม่ได้และไม่เคยเรียกร้องให้มนุษย์ทุกคนต้องเหมือนกันหมด เพราะมนุษย์ย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมชาติทั้งโดยชาติพันธุ์ รูปร่าง ผิวพรรณ เพศสภาพ บุคลิก ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และอื่นๆ
แต่ความแตกต่างนั้นไม่ได้เป็นเหตุผลทำให้มนุษย์ต้องไม่เสมอภาคกัน เพราะความเสมอภาค (Equality) ตรงข้ามกับความไม่เสมอภาค (Inequality) ไม่ได้ตรงข้ามกับคำว่าความแตกต่าง (Difference) อย่างที่หลายคนทึกทัก นั่นหมายความว่า มนุษย์เราแตกต่างกันโดยธรรมชาติ แต่ก็สามารถและควรเท่าเทียมกันได้ (different but Equal) ดังนั้นเมื่อกล่าวว่า คนเสมอภาคกัน จึงไม่ได้หมายความว่าคนเหมือนกันทุกด้านไม่ว่าจะเป็นชาติตระกูล หน้าตา ความสามารถ สติปัญญา แต่การที่บอกว่าเสมอภาคกันมีความหมายว่า มนุษย์เท่าเทียมกันทั้งในความเป็นมนุษย์ และตามกฎหมายของรัฐ (Kurian, 2011: 515)ดังที่มีวลีสำคัญที่สะท้อนความเสมอภาคคือ “Equality Before the Law” ซึ่งหมายความว่าบุคคลทุกผู้ทุกนามย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกระบวนของกฎหมายอย่างเป็นธรรม หรือความเสมอภาคกันในทางการเมืองคือ พลเมืองที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดย่อมสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างเท่าเทียมกัน