7 สัญญาณที่บอกว่าคุณเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ!!
โรคยอดฮิตของคนขี้กังวลมากเกินกว่าปกติ คุณกำลังเป็นอยู่หรือเปล่านะ?
การที่เป็นห่วง พะวงกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตของคนเรานั้น ย่อมเกิดขึ้นได้กันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณเป็นคนที่จะต้องกังวล ก่อนออกจากบ้านต้องคอยตรวจตามจุดต่างๆ ซ้ำไปซ้ำมา หากเตรียมของใส่กระเป๋าไปแล้วก็จะรื้อ เอาออกมาเช็คแล้วเช็คอีกว่าขาดหายหรือไม่ ได้ใส่อะไรเข้าไปหรือยัง? ก็ถือว่าเป็นภาวะของโรคย้ำคิดย้ำทำหรือ OCD (Obsessive–compulsive disorder) อยู่ก็ได้
อาการของคนที่เป็นโรคนี้จะมีภาวะวิตกกังวล (Anxiety Disorder) มากเกินความเป็นจริง ซึ่งจะส่งผลไปสู่ความเครียด และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัว ไม่อาจที่จะบอกว่าผู้ป่วยนั้นแค่ขี้กังวลในระดับปกติธรรมดา หรือว่าเป็นโรค OCD ได้ในทันที แต่ก็สามารถตรวจเช็คคร่าวๆ จากพฤติกรรมในชีวิตต่างๆ ด้วยตัวเองได้ ก่อนที่จะเข้ารับการตรวจวินิจฉัยพฤติกรรมเบื้องต้นจากจิตแพทย์ หากรู้สึกว่าสงสัยว่าตัวเอง หรือคนใกล้ตัวจะเป็นโรคนี้ ก่อนที่จะมีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ
เรามาลองสังเกตการกระทำของตัวเองดูว่าเข้าข่ายหรือไม่กันค่ะ
7. เช็คแล้วเช็คอีก
ก่อนที่จะออกจากบ้านนั้น ทุกๆ คนก็จะต้องเช็คเรื่องความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ฟืนไฟ แก๊สหุงต้ม ก๊อกน้ำต่างๆ การล็อคประตู หรือลงกลอนหน้าต่างกันอยู่แล้วใช่ไหมล่ะคะ แต่ถ้าคุณเป็นผู้ป่วยโรค OCD จะมีอาการที่ต้องตรวจเช็คในทุกเรื่องซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกว่าตัวเองจะรู้สึกมั่นใจ แม้ว่าอาจจะเช็คไปแล้ว 3 รอบก็ตาม ทำให้คุณอาจจะใช้เวลาก่อนออกเดินทางช้าขึ้น เพราะมัวแต่กลับเข้าไปเช็คความเรียบร้อยในบ้าน เพราะมีความกังวลว่ายังไม่ได้เช็คซ้ำแล้วซ้ำอีก
6. รักษาความสะอาดมากเกินปกติ
ถือว่าเป็นลักษณะที่เห็นได้เด่นชัดของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ก็คือการกังวลต่อการรักษาความสะอาด และกังวลกับเชื้อโรคต่างๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องของการล้างมือบ่อย หรือว่าจะต้องทำความสะอาดบ้านมากกว่าคนปกติ เป็นสิ่งที่ชี้ได้ชัดของผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งการกังวลไม่ได้เกิดกับตัวเองเพียงเท่านั้น ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อคนรอบข้างอีกด้วย นั่นเพราะเป็นอาการที่กลัวเชื้อโรค กลัวอาการเจ็บป่วย โดยในรายที่มีอาการหนักมากๆ อาจจะล้างมือบ่อยจนมือแห้งผิวแตกกันเลยทีเดียว
5. รักษาความเป็นระเบียบสูงมาก
คนที่ป่วยเป็นโรคนี้ มักจะชอบการจัดระเบียบสิ่งของต่างๆ ภายในบ้าน หรือที่ทำงานของตัวเอง ว่าจะต้องไว้ของสิ่งไหน และที่ตรงไหน ต้องจัดเรียงตามสีตามขนาด จะมีการเคลื่อนย้ายหรือวางไม่ถูกตำแหน่งเพียงเล็กน้อยไม่ได้เลย บางทีก็มัวแต่กังวลจนต้องลุกมาจัดระเบียบอยู่อย่างนั้น ทำให้ส่งผลกระทบไม่ได้ทำงานทำการ หรือพักผ่อนกันเลยทีเดียว ถือว่าเป็นความกังวลที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของผู้ป่วยมากจนเกินไป
4. ไม่พอใจในรูปร่างของตัวเอง
ผู้ป่วยโรคนี้จะคิดว่ารูปร่างที่สมส่วน นั่นคือสิ่งที่ดีงาม และสมบูรณ์แบบเอามากๆ ทั้งๆ ที่ตามธรรมชาติของคนเราแล้ว ไม่อาจจะสมบูรณ์แบบกันได้ขนาดนั้น ซึ่งความกังวลต่อเรื่องรูปร่างรูปลักษณ์นั้นเกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคน อาจจะเพราะไปยึดติดเอาความงามจากเหล่าบรรดาดารา นางแบบแล้วมาใช้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของรูปร่างที่มักจะต้องการให้ตัวเองไม่มีส่วนเกิน ค่อนข้างผอมบาง มีกล้ามเนื้อ เหมือนจะธรรมดาแต่สำหรับในผู้ป่วยโรคนี้ อาจจะติดกระจกมากๆ และมีอาการที่เกี่ยวกับการกิน เช่น มีอาการอะนอเร็กเซีย หรือบูลีเมียร่วมด้วย รวมถึงถ้าบางคนกังวลในเรื่องของสีผิว ก็อาจจะทำสิ่งต่างๆ ที่ส่งผลให้สีผิวเปลี่ยนอย่างไม่ได้คำนึงถึงสารเคมีที่เป็นพิษต่างๆ อีกด้วย
3. เป๊ะกับตัวเลขมากเกิ้น
สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ จะมีอาการแตกต่างจากคนทั่วไปอย่างเด่นชัด เพราะผู้ป่วยมักจะซีเรียสในการเรียงตัวเลข ยึดติดรูปแบบทางคณิตศาตร์ต่างๆ มากกว่าปกติ จะมีความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ หากเจอตัวเลข หรืออะไรที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบที่ควรจะเป็น และไม่สามารถหยุดกังวลกับเรื่องต่างๆ เหล่านั้นได้ จนกว่ามันจะถูกแก้ไขให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ แม้ว่าบางทีมันจะเป็นเรื่องเล็กน้อยไร้สาระมากแค่ไหนก็ตาม
2. ต้องมีที่พึ่งทางใจอยู่เสมอ
ถือเป็นเรื่องที่จะต้องหาความมั่นคงทางจิตใจ ด้วยการหาใครสักคนที่มาลดความกังวลให้กับตัวเอง จึงเป็นเรื่องปกติของผู้ป่วยที่ไม่ว่าจะมีปัญหาจากส่วนใดก็ตาม ก็จะต้องเที่ยวถามปรึกษากับผู้คนมากมาย เพื่อให้ได้ความรู้สึกที่ผ่อนคลายหายกังวล เพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองได้มากที่สุด จึงมักพบผู้ป่วยมาถามหาความมั่นใจจากคนรอบข้างของตัวเองกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม แต่ก็อาจสร้างความรำคาญได้มากอยู่เหมือนกัน
1. เป็นพวกเพอร์เฟ็คชั่นนิสต์
ใครๆ ต่างก็คิดว่าการที่ทุกสิ่งสมบูรณ์แบบนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่การเป็นเพอร์เฟคชั่นนิสนั้นจะให้ความสำคัญและกังวลในจุดนี้มากจนเกินไป หากว่าสิ่งใดขาดตกบกพร่องแม้แต่นิดเดียวก็จะรู้สึกกระวนกระวาย ไม่สบายใจก็เป็นสัญญาณสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ได้ การที่กังวลกับความสมบูรณ์แบบชนิดตึงเป๊ะไม่มีผ่อนปรนอย่างใดเสียบ้าง จะทำให้เกิดความกังวลและเครียดกับเรื่องไม่เป็นเรื่องอยู่มากมาย อย่างเช่น การตัดพิซซ่าจะต้องตัดให้ชิ้นมีขนาดเท่ากัน จำนวนหมูไก่กุ้งก็ต้องเท่ากัน การไว้ของจะต้องไว้ในองศา หรือมุมที่เหมาะสมเพียงเท่านั้น การวางแผนทำสิ่งต่างๆ ก็ต้องเป็นไปตามที่ตั้งเอาไว้ หากไม่เป็นอย่างนั้นก็จะเกิดความรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสียเอามากๆ
หากไม่สังเกตอย่างจริงจังแล้วล่ะก็ คุณอาจจะรู้สึกว่าก็เป็นเรื่องของคนที่ขี้กังวลคล้ายคนปกติทั่วไปก็เท่านั้น แต่ถ้าเช็คแล้วมีอาการหนัก ย้ำคิดย้ำทำหรือมากเกินกว่าที่ควรเป็นเกินครึ่งแล้ว ลองปรึกษาจิตแพทย์ และหาหนทางรักษาให้ตรงจุด เสียดีกว่าค่ะ จะได้ไม่เป็นโรคเครียดสะสม หรือกลายเป็นโรควิตกกังวลในอนาคตเอานะคะ
บทความ โดย : Akine_noxx
เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บ Spice/Pepper
ฝากติดตาม กดโหวต กดแชร์ หากชื่นชอบกันด้วยนะคะ