หนมลูกโหนด
เที่ยงแล้ว หลายคนๆคงกำลังพักเที่ยงและกำลังทานอาหารกันอย่างเอร็ดอร่อย เมื่อกินคาวเสร็จก็ต้องตามด้วยของหวาน ถึงจะครบสูตร
เที่ยงนี้ผู้เขียนนำเสนอเมนูขนมหวานสุดแสนอร่อย หอมหวานมันกำลังดี เป็นเสน่ห์ของวิถีคนต่างจังหวัดอีกแล้ว และได้อนุรักษ์ภูมิปัญญาของคนเฒ่าคนแก่รุ่นตายายที่สั่งสอนให้ทำขนมนี้เป็น ขนมนี้ชื่อว่า "หนมลูกโหนด" ชื่อเรียกทางใต้ค่ะ แค่ชื่ออย่างเป็นทางการก็คือ ขนมตาล นั่นแหละ
"เดินหัวนา(คันนา)แหงนมองต้นโหนดน้อย เล็งชะม้อยคอยแลลูกโหนดสุก ลมพัดไหวไหวไม่ช้าเสียงตุ๊บตุ๊บ
ลูกโหนดสุกหล่นแล้วไปเก็บกัน"
วัตถุดิบ ได้แก่
1. ลูกโหนดสุก (ลูกตาลสุก ) 2-3 ลูก
2. น้ำเปล่า 1 ลิตร
3. น้ำผึ้งโหนด(น้ำตาลเหลว) 1 ถ้วยตวง
4.เกลือ 1.5 ช้อนชา
5. มะพร้าวสด 2 ลูก
6. แป้งข้าวจ้าว 1/2 ถ้วยตวง
7. แป้งข้าวเหนียว 1 ถ้วยตวง
8. ใบตอง/ไม้กลัด
9. ซึ้ง
วิธีทำ มีดังนี้
1. นำลูกโหนดสุก (ลูกตาลสุก)มาปอกเปลือกออกให้หมดจนเห็นเนื้อสีเหลืองส้ม
2. นำมาขยำกับน้ำเปล่า ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ยี" จนเนื้อลูกโหนด(เนื้อลูกตาล) หลุดออกจากตัวเนื้อใย
3. นำน้ำลูกโหนด(น้ำลูกตาล) ที่ได้มากรองด้วยผ้าขาวบาง แขวนห้อยทิ้งไว้ เพื่อให้สะเด็ดน้ำ จนเหลือแต่เนื้อลูกโหนด(เนื้อลูกตาล)เพียวๆ
4. ระหว่างรอ มาบดแป้งข้าวจ้าว (ข้าวสารแช่น้ำ) กับแป้งข้าวเหนียว (ข้าวสารเหนียวแช่น้ำ) ด้วยครกบดแบบโบราณ แป้งทำเองจะสดหอมอร่อยกว่าแป้งสำเร็จรูปจ้า แต่หากใครไม่สะดวก ใช้แป้งสำเร็จรูปได้เลยนะ
5. ขูดมะพร้าวเป็นเส้นๆ รอไว้ มะพร้าวที่ใช้ควรเป็นมะพร้าวเปลือกเขียว ที่เนื้อไม่อ่อนหรือแก่เกินไป มันจะเพิ่มความหอมกรุบหนึบหนับของตัวขนม ขั้นตอนนี้ให้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน
6. นำขั้นตอนที่ 3-5 มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ตามด้วยเกลือ และน้ำผึ้งโหนด (น้ำตาลเหลว) คลุกเคล้าอีกรอบ เหตุผลที่ใช้น้ำตาบเหลวเพราะมีเอกลักษณ์ความหอมเฉพาะตัว ซึ่งในปัจจุบันแม่ค้าพ่อค้าใช้น้ำตาลทรายแทนเนื่องจากหาซื้อง่าย ขั้นตอนนี้สังเกตอย่าให้เนื้อขนมของเราแห้งหรือแฉะเกินไปน้า
7. นำใบตองตัดหัวท้ายให้มีปลายแหลม ตักเนื้อขนมหยอดลงไปประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ และโรยหน้าด้วยมะพร้าวเส้นที่ขูดแยกไว้อีกส่วน ห่อพับจีบและใช้ไม้กลัดกลัดไว้ให้เรียบร้อย
8. นำขนมที่ห่อได้ลงไปในซึ้ง แล้วนำไปนึ่งด้วยไฟกลาง ประมาณ 20 นาที
เราก็จะได้ หนมลูกโหนด(ขนมตาล) หน้าตาน่าทานสุดๆไปเลย หนึบหนับจากแป้งข้าวจ้าวและข้าวเหนียว กรุบๆเนื้อมะพร้าวสด หวานหอมเฉพาะตัวจากเนื้อตาลสุกและน้ำตาลเหลว ขนมไทยโบราณตามวิถีชาวบ้าน อร่อยนักแล