ปลาโอนต้มส้มโหนด
อาหารคาวนอกจากแกงที่มีรสชาติเผ็ด และต้มจืดที่มีรสชาติเบาๆแล้ว ก็ยังมีต้มอีกชนิดหนึ่งที่ถ้าได้ซดร้อนๆโล่งคอ คนเป็นหวัดนี่เหมาะเลย เมนูที่ผู้เขียนกำลังกล่าวถึงคือ เมนู "ต้มส้ม"
ต้มส้ม ก็มีหลายชนิดนะ บางคนใช้น้ำส้มสายชู อย่าใส่เยอะนะระวังไส้ขาด บางคนใช้น้ำมะขามเปียก ใช้ใบส้มเกียบ เป็นต้น แต่วันนี้ผู้เขียนจะทำ "ปลาโอนต้มส้มโหนด" (ปลาเนื้ออ่อนต้มส้มตาลโตนด) มาช่วยกันทำไปพร้อมๆกันนะคะ
วัตถุดิบ ได้แก่
1. ปลาโอน (ปลาเนื้ออ่อน) 1/2 กก.
2. น้ำส้มโหนด ( น้ำส้มตาลโตนด) 1 ถ้วยตวง
3. เกลือ 1 ช้อนชา
4. น้ำตาลทรายแดง 1/4 ถ้วยตวง
5. ตะไคร้ 1 ต้น
6. ขมิ้น 1 แง่ง
7. หอมแดง 5 หัว
8. กระเทียม 7-8 กลีบ
9. น้ำเปล่า 1 ถ้วยตวง
ขั้นตอนการทำ มีดังนี้
1. นำปลาโอน (ปลาเนื้ออ่อน) มาจัดการทำความสะอาดเอาเหงือก หนวด ไส้พุง ออกให้เรียบร้อย ทริคดีๆ ให้ใช้น้ำส้มสายชูนิดนึงผสมเกลือล้างขจัดเมือกของตัวปลาให้หมดไป ขจัดกลิ่นคาวด้วยค่ะ เหตุผลที่เลือกปลาโอน หรือปลาเนื้ออ่อน เพราะเนื้อเยอะ ก้างน้อย เนื้อนิ่มแต่ไม่เละหวานอร่อย
2. นำตะไคร้เอาใบด้วย โดยแยกตัดใบขยี้ให้เกิดกลิ่นและขมวดผูกเป็นก้อน
ส่วยลำต้นให้ทุบพอแหลก
3. จัดการตำขมิ้น กระเทียม หอมแดง จนเกือบละเอียดเตรียมไว้ค่ะ
4. นำน้ำเปล่าตั้งไฟจนเดือดจากนั้นใส่สมุนไพรตามข้อ 2-3 ลงไป ตามด้วยน้ำตาลทรายแดง ที่ผู้เขียนเลือกใช้น้ำตาลทรายแดงเพราะผ่านกระบวนการขัดสีน้อยที่สุดค่ะ เพื่อสุขภาพเนอะ ตามด้วยเกลือ
5. รอจนทุกอย่างเดือดอีกครั้ง จึงนำปลาที่เราเตรียมใส่ลงไป เหตุที่ใส่ปลาตอนน้ำเดือดเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำต้มของเรามีกลิ่นคาวนั่นเอง ห้ามคนนะคะ รอจนปลาสุก จึงค่อยตักน้ำส้มโหนดลงไป ย้ำว่าค่อยๆเติมลงไปนะคะ เพราะน้ำส้มโหนดเปรี้ยวมาก ถ้าใส่ทีเดียวหมดเปรี้ยวไปจะแก้ยาก รอจนเดือดอีกครั้ง ชิมรสเมื่อได้รสชาติเปรี้ยว อมหวานนิดๆ ตัดเค็มหน่อยๆ อร่อยลงตัวแล้วก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
เสร็จแล้วค่าเมนูหอมๆ อร่อยสุดๆไปเลย หวานจากเนื้อปลาเป็นหลัก สมุนไพรเพิ่มความหอม แต่ยังคงมีความหอมของน้ำส้มโหนดที่มีความหอมเฉพาะตัว ได้ข้าวสวยร้อนๆสักจานมาลุยกินกันดีกว่าค่า
เกร็ดความรู้: น้ำส้มโหนด หรือน้ำส้มตาลโตนด ได้จากน้ำหวานของตาลโตนดสด ซึ่งมีความหอมมากๆ มาผ่านกระบวนการหมักทิ้งเวลาไว้เป็นเดือน ถ้าหมักแค่ข้ามคืน จะกลายเป็นน้ำเมา เรียกว่า "หวาก" มีกลิ่นแอลกอฮอล์ (ระวังตำรวจจับนะ😅😅) แต่หากหมักปล่อยทิ้งไว้นานกว่านี้เรื่อยๆจากน้ำตาลสด จนกลายเป็นหวาก จากหวากก็จะเปลี่ยนเป็นน้ำส้มโหนดที่จะเพิ่มระดับความเปรี้ยวตามวันเวลาของการหมักนั่นเอง