"ชีวิตต่อชีวิต" เปิดเบื้องหลังภารกิจส่งต่อหัวใจ
เคยดูซีรีส์เกี่ยวกับวงการแพทย์ เรื่องราวจะเป็นการช่วยชีวิตคน มีเวลาจำกัดในรักษา และความเร่งด่วนในการขนย้ายอวัยวะสำคัญต่างๆ ทั้งทางบก ทางอากาศ มันทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและพลอยลุ้นไปด้วยในทุกๆ ตอน
แต่ในเมืองไทยเรายังไม่ค่อยเห็นซีรีส์แนวนี้ซักเท่าไหร่เลย อยากให้มีการทำซีรีส์แนวนี้ออกมาบ้างจัง เพราะบ้านเราก็ใช้วิธีขนส่งอวัยวะในเวลาฉุกเฉิน โดยเฉพาะทางอากาศนี่อย่างเท่ห์เลย
ยกตัวอย่างของ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ขับเครื่องบินส่วนตัวรับหัวใจจากผู้ป่วยที่บริจาคไว้นำส่งมอบให้ผู้ป่วยอีกรายที่รอรับการเปลี่ยนถ่ายในโรงพยาบาล ภายใต้การดำเนินโครงการ "หัวใจติดปีก"
คุณอนุทิน กล่าวว่า การเดินทางมารับบริจาคหัวใจในครั้งนี้ เริ่มดำเนินการหลังจากทราบว่า มีผู้ป่วยของโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชายวัย 25 ปี ประสบอุบัติเหตุ และได้แจ้งความจำนงขอบริจาคหัวใจและอวัยวะอื่นๆ ไว้กับทางโรงพยาบาล โดยได้รับการยินยอมจากญาติของผู้ป่วยแล้ว จึงได้นำทีมคณะแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ เดินทางมาทำการผ่าตัดอวัยวะ ประกอบด้วย หัวใจ 1 ดวง ไต 1 ข้าง และดวงตา 1 คู่ จากผู้ป่วยรายดังกล่าว เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยรายอื่นที่รอการช่วยชีวิตอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในขณะนี้ โดยเฉพาะการผ่าตัดหัวใจ นั้น ทางทีมแพทย์มีความต้องการและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดย หัวใจ 1 ดวง จะต้องส่งต่อและปลูกถ่ายอวัยวะทันทีภายใน 4 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นหัวใจจะขาดเลือดนาน ซึ่งทีมงานแพทย์ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้ทันตามเวลาที่กำหนด (นี่ก็ได้มาฉากนึงล่ะนะ....)
มาต่อกันที่ฝั่งเอกชนบ้าง ข่าวล่าสุดก็เห็น "เครือซีพี" สนับสนุนภารกิจเร่งด่วนรพ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ส่งสยามแลนด์ ฟลายอิ้ง จัดไฟล์ทพิเศษเหมาลำนำทีมแพทย์ผ่าตัด บินตรงรับหัวใจ ไต และดวงตาจากผู้บริจาคที่บุรีรัมย์ กลับมาเปลี่ยนถ่ายให้ผู้ป่วยที่กรุงเทพฯ
จากสัมภาษณ์พิเศษ เปิดใจ นพ.พัชร อ่องจริต แพทย์ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมที่บินไปรับหัวใจกลับมาผ่าตัดให้ผู้ป่วย
การเปลี่ยนถ่ายหัวใจ คือ การเอาหัวใจจากคนไข้คนหนึ่ง ที่สมองตายแล้ว แต่หัวใจยังทำงาน มาให้ กับคนไข้อีกคน ซึ่งมีข้อจำกัดว่า เมื่อเราหยุดหัวใจในคนที่บริจาคมาใส่ในผู้รับบริจาค จะต้องทำให้เสร็จสิ้น คือ ปล่อยเลือดให้กลับมาเลี้ยงในหัวใจเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่อีกครั้ง ต้องทำภายใน 4 ชั่วโมง โดยผู้ที่บริจาคจำนวนมากในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยมีระยะทางที่ไกล ซึ่งไม่สามารถเดินทางด้วยวิธีอื่นได้นอกจากเครื่องบิน
"ข้อกำหนด 4 ชั่วโมง ผู้บริจาคอวัยวะอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งการไปด้วยรถยนต์ 4 ชั่วโมงก็คงไม่ถึง เครื่องบินจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการขนส่ง" นพ.พัชร อธิบาย
สำหรับ "หัวใจ" สมัยหนึ่งเคยใช้เครื่องบินพาณิชย์ แต่ในช่วงโควิด-19 ไม่มีเที่ยวบิน เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องใช้เครื่องบินพิเศษ ที่ผ่านมา สำหรับเที่ยวบินพิเศษในการบิน รับ-ส่งอวัยวะ เช่น หน่วยงานจากราชการ ของกองบินตำรวจที่สนับสนุนการบินมาโดยตลอด นอกเหนือจากสายการบินพาณิชย์อื่นๆ เช่น ไทยสมายล์ นกแอร์ สำหรับหน่วยงานราชการ ต้องดูทรัพยากรพร้อมหรือไม่ เครื่องมีไหม และที่สำคัญ คือ งบประมาณ
ขั้นตอนการรับหัวใจ ในต่างประเทศ จะมีทีมแพทย์ที่สามารถเอาอวัยวะออกอยู่แล้ว กระจายอยู่ภายในประเทศตามพื้นที่ต่างๆ โดยใช้ลักษณะให้ทีมแพทย์โรงพยาบาลใกล้ๆ เข้ามาผ่าตัดนำอวัยวะออก แล้วส่งขึ้นเครื่องบินมา ถือเป็นที่นิยมที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง
การเก็บรักษาหัวใจ หลังจากถูกนำออกมาจากร่างกาย จะต้องมีการใส่น้ำยาเข้าไปทางหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจก่อน เพื่อให้น้ำยาปกป้องกล้ามเนื้อหัวใจ เนื่องจากหัวใจจะหยุด เหมือนสภาวะจำศีล ไม่มีการใช้พลังงานมาก จากนั้น ก็จะใส่มาในน้ำเย็นจัดในถังน้ำแข็ง เพื่อรักษาอุณหภูมิให้ต่ำ ให้หัวใจไม่ช้ำ และให้เซลล์ไม่ช้ำ
.... นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ สามารถอ่านต่อฉบับเต็มที่เปิดเผยทุกรายละเอียดได้ที่ https://www.tnnthailand.com/content/46693 หวังไว้ลึกๆ ว่าจะมีใครสักคนหยิบยกเรื่องนี้ไปทำซีรีส์ฉบับคนไทยบ้างจัง
แต่ไม่ว่าจะเป็นชีวิตจริงหรือในซีรีส์ หมอ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลาย ต่างก็เหน็ดเหนื่อย เพื่อจุดประสงค์เดียวกันคือ อยากให้คนไข้หายดีกลับไปอยู่กับครอบครัว ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณหมอทุกท่านนะคะ