วันเข้าพรรษากับข้าวหลาม
"วันเข้าพรรษา" เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศานาที่พุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญตักบาตรและเวียนเทียนในตอนเย็น ซึ่งวันเข้าพรรษานี้จะตรงกับเดือนแปด เข้าช่วงฤดูฝน พระภิกษุ สามเณร หรือแม้กระทั่งภิกษุณี จะต้องจำพรรษาที่วัด เป็นระยะเวลา 3 เดือน เหตุผลนั้นโดยครั้งพุทธกาลที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อเข้าฤดูฝนพระภิกษุออกเดินทางจนไปเหยียบย่ำข้าวในนาของชาวบ้านเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงออกกฎให้จำพรรษาประจำวัดนั่นเอง
ส่วนประเพณีปฎิบัติในวันเข้าพรรษาของไทยนอกจะพุทธศาสนิกชนจะถวายผ้าไตรจีวร เทียนพรรษา แก่ภิกษุแล้วนั้น แต่ละภูมิภาคก็จะปฏิบัติแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่นั้นๆ ซึ่งทางภาคใต้ที่ลืมไม่ได้ต้องกล่าวถึงขนมชริดหนึ่งเมื่อถึงเทศกาลวันเข้าพรรษา ก็คือ "เหนียวหลาม" โดยนิยมทำข้าวหลามพร้อมกับเตรียมข้าวตอกเพื่อนำไปทำบุญที่วัดในวันเข้าพรรษาด้วย
เหนียวหลาม ชื่อเรียกทางใต้ หรือข้าวหลาม ในทางภาคกลาง หาซื้อได้ง่ายในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษา มีวางขายตามท้องตลาดสดบ้าง ตลาดนัดบ้าง แต่ราคาค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยขายกันที่กระบอกละ 40-70 บาท เลยทีเดียว ราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดของกระบอกข้าวหลาม ชาวบ้านจึงนิยมทำข้าวหลามกันเองในครัวเรือน แต่ข้าวหลามก็สามารถทำยึดเป็นอาชีพหลักรายได้ดีกำไรงามของพ่อค้าแม่ค้าขายขนมได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
"เหนียวหลาม" เป็นขนมที่ทำจากข้าวสารเหนียวนำมากรอกใส่กระบอกไม้ไผ่พร้อมน้ำกับกะทิ ซึ่งผสมเกลือและน้ำตาลเล็กน้อย บางครั้งอาจจะใส่ถั่วด้วย เพื่อเพิ่มรสชาติให้ข้าวหลามนั้นอร่อยน่ากินมากขึ้น และปิดกระบอกไม้ไผ่ด้วย "จุก" ซึ่งจุกทำ "พด" ก็คือการนำเปลือกมะพร้าวมาทุบขยี้ให้เป็นใยมะพร้าวห่อใบตองอีกชั้นเพื่อความสะอาด หรือถ้าบ้านไหนมีทางสาคูต้นก็เอามาทำจุกแทนได้เลยค่ะ จากนั้นนำไปย่างไฟอ่อนถึงปานกลางโดยการย่างข้าวหลาม ก็จะขุดดินเป็นร่องลึกเล็กน้อยสำหรับสุมไม้หรือถ่านไฟ และมีการตอกไม้ง่ามหัวท้ายของร่องดิน และใช้ไม้ไผ่ท่อนยาวพาดทำเป็นคาน สำหรับให้กระบอกไม้ไผ่ข้าวหลามพิงเอนไม่ล้ม ซึ่งวันนี้ผู้เขียนได้เก็บรูปการทำข้าวหลามของทางใต้มาฝากค่ะ หน้าตารสชาติจะออกมาในรูปแบบไหน ไปลุยกันดีกว่าค่า มาเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนด้วยนะคะ
วัตถุดิบหลัก ส่วนประกอบในการทำ ได้แก่
1. ใบตอง สำหรับห่อจุกข้าวหลาม
2. ใยมะพร้าว/ ทางสาคูต้น
3. ข้าวสารเหนียว จะใช้เป็นข้าวสารเหนียวดำ หรือข้าวสารเหนียวขาวก็ได้ 1 กก.
4. น้ำกะทิ 2 กก.
5. เกลือ 1 ช้อนชา
6. ถั่วดำ หรือถั่วขาว 1/2 ถ้วยตวง (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
7. น้ำตาลทราย 3/4 ถ้วยตวง
8. กระบอกไม้ไผ่
วิธีทำ มีดังนี้
1. ฉีกใบตองให้มีขนาดใหญ่พอในการห่อหุ้มจุกใยมะพร้าว/ หรือจุกทางสาคูต้น
2. ตัดเลื่อยกระบอกไม้ไผ่ ขนาดความยาวตามข้อต่อของต้นไผ่ ทริคดีๆ ควรตัดเลื่อยเตรียมไว้ล่วงหน้าสัก 1-2 วันและเก็บใส่กระสอบไว้ไม่ให้โดนแดดโดนลม ก่อนนำมาทำข้าวหลาม เพื่อเวลาย่างจนสุก ข้าวเหนียวจะไม่ติดกระบอกไม้ไผ่ แต่จะปอกง่ายเป็นทรงสวยติดกับเยื่อไผ่ด้านใน
3. ล้างข้าวสารเหนียวสัก 7 น้ำทิ้ง ช่วยลดกลิ่นสาบของข้าวสารเหนียว และลดอัตราการบูดของขนมเพื่อให้เก็บได้นานขึ้น ถั่วก็ให้ล้างวิธีการเช่นเดียวกันกับข้าวสารเหนียว
4. นำมะพร้าวมาคั้นน้ำกะทิ เคล็ดไม่ลับ โดยให้ใช้น้ำอุ่นคั้น เพราะกะทิจะออกมันได้ดีกว่าน้ำอุณหภูมิห้อง และลดการบูดได้อีกทางค่ะ นำน้ำกะทิมาผสมเกลือเล็กน้อย และน้ำตาล คนให้ส่วนผสมละลายเข้ากัน ชิมรสให้กลมกล่อม
5. นำข้าวสารเหนียวและถั่วที่ล้างเตรียมไว้มาผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำมากรอกใส่กระบอกไม้ไผ่ ประมาณ 3/4 ของกระบอก ขั้นตอนนี้ห้ามกระเทาะกระบอกไม้ไผ่เด็ดขาด เพราะจะทำให้ข้าวหลามไม่ติดเยื่อไผ่เวลาย่างสุกแล้ว ออกมาแบบเละๆไม่สวย
6. นำกระบอกข้าวหลามจากข้อ 5. มากรอกน้ำกะทิใส่อีกครั้ง จะสังเกตเห็นว่าข้าวเหนียวจะลงก้นกระบอกไหลตามน้ำกะทิไปเอง สังเกตให้ได้ระดับส่วนผสม3/4 ของกระบอกไม้ไผ่ และใช้จุกปิดให้สนิท ป้องกันน้ำกะทิเดือดออกจากกระบอกไม้ไผ่เวลานำไปย่าง
7. นำกระบอกข้าวหลามในข้อ 6. ไปพิงกับคานไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ย่างด้วยไฟอ่อนถึงปานกลาง คอยพลิกกลับด้านกระบอกไม้ไผ่ให้เพื่อให้ข้าวเหนียวหลามสุกจนทั่วทั้งกระบอก อย่าให้กระบอกไหม้เกรียมนะคะ เพราะนั่นแสดงว่าข้าวเหนียวหลามในกระบอกไหม้ด้วยเช่นกัน จะแข็งไม่อร่อยน้า
เสร็จเรียบร้อยแล้วค่า ข้าวหลามที่บ้านของผู้เขียนเอง เวลาจะกินก็ให้ปอกเปลือกกระบอกไม้ไผ่ออก ให้เหลือแค่เปลือกไผ้อ่อนๆด้านใน ซึ่งเราสามารถฉีกออกเป็นซี่ๆให้เห็นตัวข้าวเหนียวที่ติดกับเยื่อไผ่เป็นแท่งสวยงาม
รสชาติจะมีรสหวานมันจากกะทิสดๆและน้ำตาล เค็มนิดๆจากเกลือ และกรุบๆจากถั่ว ได้กลิ่นหอมของเยื่อไผ่ เคี้ยวหนึบหนับสบายอารมเชียวล่ะ
ข้าวเหนียวหลามเป็นขนมอีกชนิดหนึ่งที่ทำได้ไม่ยาก เพียงแต่หลากหลายขั้นตอนสักนิด ใครใคร่จะทำกินก็อร่อย ใครใคร่จะทำขายก็สร้างกำไรดีเลยทีเดียว พร้อมแล้วนำไปทำบุญวันเข้าพรรษากันเถอะ