สาคูต้น ของหรอยเมืองลุง
ขนมหวานที่กำลังโด่งดังมากในโลกออนไลน์ มีกระแสเป็นที่นิยม และมีการแชร์กันอย่างล้นหลาม ทำให้กลุ่มผู้คนที่โปรดปรานชอบทานขนมหวานต้องสรรหามาลองชิม นั่นก็คือ ขนมสาคูต้น" ของดีขึ้นชื่อของจังหวัดพัทลุง
ต้นสาคู พบขึ้นอยู่ทั่วไปทางภาคใต้ของประเทศไทย บริเวณป่าพรุ ริมแม่น้ำลำคลอง หรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง มีลักษณะคล้ายต้นปาล์มน้ำมัน ใบเป็นทางเรียวยาวมีหนามแหลม โดยต้นสาคูที่จะนำมาผลิตแปรรูปเป็นแป้งสาคูนั้น จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 8 ปีขึ้นไป จึงถือว่านำมาใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากลำต้นมีแป้งเก็บสะสมไว้มากพอที่จะโค่นล้มและนำไปแปรรูปเป็นแป้งสาคูต่อไปได้
แป้งสาคูต้น ถือเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัดพัทลุงและสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดเป็นที่กล่าวขานของบรรดาเซียนขนมหวาน แป้งสาคูนำมาแปรรูปเป็นขนมหวานรสชาติอร่อยโดยภูมิปัญญาชาวบ้านในพื้นที่มาสู่รุ่นต่อรุ่น จนกลายเป็นมรดกภูมิปัญญาชาวบ้านท้องถิ่น ที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ชาวบ้านในจังหวัดพัทลุงได้เป็นอย่างดี จากการติดกระแสนิยมของขนมหวานปี 2020 ที่ใครๆก็ต้องไปสรรหามาทำและลองชิมให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
แต่กว่าจะมาเป็นขนมหวานรสชาติแสนอร่อยนั้น มีกรรมวิธีขั้นตอนการผลิตที่ละเอียดอ่อน ดังนี้
1. ขั้นตอนการปอกเปลือกต้นสาคู และผ่าสาคูให้เป็นชิ้นใหญ่ขนาดพอเหมาะเพื่อเตรียมขูดหรือนำเข้าเครื่องบดให้เป็นชิ้นเล็กๆ
2. ขั้นตอนการขูด โดยใช้ตะปูตอกกับไม้แผ่นหนาให้ทั่วแผ่นไม้ขนาดเหมาะมือแล้วขูดถูไถไปตามก้อนชิ้นสาคู ให้เป็นชิ้นเล็กๆลักษณะตามรูปด้านล่าง หรือจะใช้เครื่องบดก็ได้ค่ะ เพื่อเป็นการประหยัดเวลา ทุ่นแรง และสะดวกกับผู้ผลิต
3. นำสาคูที่ขูดหรือบดได้ มาขยำหรือคั้นกับน้ำสะอาด และกรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อแยกแป้งสาคูกับเศษกากสาคูออกจากกัน
4. นำแป้งที่ได้มาผึ่งลมให้แห้งพอหมาด และนำใส่กระด้งร่อนให้จับตัวกันเป็นเม็ด จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง เสร็จขั้นตอนนี้เราก็จะได้แป้งสาคูที่พร้อมจะนำไปทำขนมหวานกันแล้วล่ะ
ก่อนจะลงมือกวนสาคูต้น เรามาเตรียมวัตถุดิบส่วนผสมกันเลยดีกว่า โดยจะประกอบไปด้วย
1. แป้งสาคูต้น 1ถ้วยตวง
2. น้ำสะอาด 1 ถ้วยตวง
3. น้ำตาลทราย 1/2ถ้วยตวง
4. เกลือ 1/2 ช้อนชา
5. เครื่องเคียง เช่น ข้าวโพด ลำใย
6. หัวกะทิสด หรือนมสด
วิธีทำ เรามาเริ่มลงมือกวนแป้งสาคูต้นกันเลย โดยเริ่มจาก
1. ตั้งหม้อบนเตา ใช้ไฟอ่อน ใส่น้ำ 1 ถ้วยตวง และน้ำตาลทราย (น้ำตาลทรายใส่ปริมาณรสหวานตามชอบ) คนจนน้ำตาลทรายละลาย ขั้นตอนนี้ให้ใช้ไฟอ่อนเท่านั้นนะคะ เพื่อไม่ให้น้ำเชื่อมของเราเดือดจนมีกลิ่นไหม้
2. ค่อยๆใส่แป้งสาคูต้นลงไปทีละนิด ย้ำว่าต้องค่อยๆใส่นะคะ เพราะเวลากวนแป้งสาคูจะเหนียวข้นเร็วมาก และเม็ดสาคูจะขยายตัวเพื่อดูดซับน้ำเชื่อมเข้าไป ให้คนต่อไปเรื่อยๆห้ามหยุดนะคะ เพื่อไม่ให้แป้งสาคูจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง และป้องกันการติดก้นหม้อจนมีกลิ่นเหม็นไหม้ค่ะ
3. สังเกตเม็ดแป้งสาคูต้น ถ้าแป้งสาคูสุก เม็ดแป้งจะมีลักษณะใสสีน้ำตาลอมแดง เมื่อแป้งสาคูสุกให้ใส่เครื่องเคียง เช่น ข้าวโพด ลำใย ตามใจชอบนะคะ โดยให้คนต่อจนกว่าเครื่องเคียงจะสุก ชิมรสความหวานเป็นที่พอใจ ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเราจะไม่ใส่เกลือลงไปในขั้นตอนนี้นะคะ เพราะจะทำให้ขนมของเรามีรสเค็มเกินไป
4. ขั้นตอนสุดท้ายที่ทุกคนรอคอยกันแล้วค่ะสาวๆ พร้อมเสิร์ฟด้วยการตักขนมสาคูต้นใส่ถ้วย ราดหน้าด้วยหัวกะทิสด โดยหัวกะทิให้ใส่เกลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อเพิ่มความกลมกล่อมให้กะทิสด หรือใครจะใส่นมสดแทนก็ได้ค่ะ
รสชาติของขนมสาคูต้นจะมีกลิ่นหอมนวลๆ คล้ายกลิ่นดอกซากุระ ความหอมได้จากแป้งสาคูตามธรรมชาติไม่ผ่านการกระบวนการสังเคราะห์ เนื้อขนมให้ความเหนียวหนึบ แต่จะนุ่ม ลื่น ละมุน เนื้อละเอียดเมื่อสัมผัสลิ้น และเพิ่มความหอมให้ขนมมากยิ่งขึ้นด้วยกะทิสด ชวนให้ลิ้มลองรสขนมสาคูต้น ซึ่งจะต่างจากขนมสาคูแป้งสังเคราะห์ ที่ผลิตแปรรูปในโรงงานและมีวางขายทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งจะให้เนื้อขนมที่มีความแข็งกระด้าง รสสัมผัสไม่นุ่มละลายในปาก และไม่มีความหอมแบบธรรมชาติของเนื้อแป้งสาคู
หากไม่อยากพลาดกระแสนิยมเรื่องขรมหวานปี 2020 ต้องลองหา " ขนมสาคูต้น " รสชาติหอมหวาน อร่อย นุ่มละมุนลิ้น เหมือนกำลังกินขนมอยู่ท่ามกลางสวนซากุระกันด้วยน้า