“ไหว้เจ้าที่” วิธีการง่ายๆ ทำได้เองที่บ้าน
ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน “เจ้าที่” คือดวงวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งตามความเชื่อของคนโบราณเชื่อกันว่าเจ้าที่จะสิงสถิตอยู่ตามอาคาร บ้านเรือน หรือสถานที่ต่างๆ ซึ่งดวงวิญญาณเหล่านี้อาศัยมานานแล้ว ก่อนที่จะมีคนเข้ามาพักอาศัยอยู่ด้วยซ้ำ ดังนั้นการไหว้เจ้าที่ก็เหมือนการให้ความเคารพต่อดวงวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในบ้านเรือนของเรา โดยการไหว้เจ้าที่นั้นจะต่างจากการไหว้ศาลพระภูมิตรงที่ ศาลพระภูมิคือการไหว้สักการะต่อเทพ ซึ่งเจ้าของบ้านได้เชิญเข้ามาอยู่ในศาล เพื่อให้ปกปักรักษาบ้านเรือน
การไหว้เจ้าที่เป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ดวงวิญญาณซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านเรือนของเรา ดังนั้นหากเราไหว้เจ้าที่อย่างถูกวิธี อาจจะทำให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นมีความสงบสุข วิธีการไม่ได้มีความซับซ้อนหรือยุ่งยากอะไรมากมาย สามารถทำได้ด้วยตนเอง
สิ่งของที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการประกอบพิธีกรรม
1.ธูป จำนวน 5 ดอก
2.เทียน จำนวน 2 เล่ม
3.น้ำชา จำนวน 5 แก้ว
4.ผ้าขาวบาง จำนวน 1 ผืน
5.หมากพลู จำนวน 9 คำ
6.ผลไม้ จำนวน 9 ชนิด
7.ดอกดาวเรือง จำนวน 9 ดอก
วิธีการไหว้เจ้าที่อย่างถูกวิธี
เมื่อเจ้าของบ้านได้เตรียมอุปกรณ์พร้อมสำหรับการไหว้เจ้าที่จนครบทุกอย่างแล้ว การไหว้เจ้าที่ควรถือฤกษ์เวลาเที่ยงตรง ของวันเสาร์ หรือวันอังคาร ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการไหว้ แต่จะต้องมีการปฏิบัติตามวิธีการให้ถูกต้องและเหมาะสมด้วย เพื่อให้ทำพิธีครั้งนี้เรียบร้อยสมบูรณ์มากที่สุด
ผู้ที่ทำพิธีไหว้เจ้าที่ให้หันหน้าเข้าบ้าน และนำผ้าขาวบางที่เตรียมไว้แล้วมาปูลงกลางบ้าน และนำของไหว้มาวางทับบนผ้าขาว จากนั้นให้ผู้ไหว้จุดธูปและจุดเทียน เพื่อที่จะเตรียมทำพิธีในขั้นตอนต่อไป ผู้ไหว้กล่าวขอขมาตามประโยคดังต่อไปนี้ “ข้าแต่เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าของที่เจ้าของทาง เจ้าของบ้านเจ้าของเรือน (กล่าวบ้านเลขที่) บ้านหลังนี้ วันนี้เป็นวันดี ข้าพเจ้า (กล่าว ชื่อและนามสกุลของตัวเอง) นำเครื่องสักการะบูชามาตั้งถวาย เพื่อขอขมากรรม หากมีสิ่งใดก็ตามที่ข้าพเจ้าทำผิดพลาดไป ทั้งตั้งใจก็ดีและไม่ตั้งใจก็ดี ทั้งรู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี ข้าพเจ้าขออโหสิกรรมท่าน ขอท่านจงโปรดงดโทษ เว้นโทษและอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด (จากนั้นสามารถกล่าวอธิฐานได้ตามความปรารถนาของแต่ละคน) เมื่อธูปหมดดอกแล้ว ให้ผู้ไหว้ดับเทียนทั้งหมด จากนั้นจับพานพร้อมกับกล่าวประโยคว่า “ขอเดนขอทานให้ลูกให้หลานกิน เพื่อความเป็นศิริมงคล” เมื่อทำพิธีครบหมดแล้วผู้ไหว้สามารถนำผลไม้ไปรับประทานต่อได้