ศาลสูงในสหรัฐฯพิพากษาให้ทำแท้งเสรีในรัฐหลุยเซียนาและเท็กซัส
30 มิถุนายน 2020
ศาลสูงสหรัฐฯ พิพากษาให้คดีที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิ์ในการทำแท้งเป็นผู้ชนะคดีในรัฐหลุยเซียนา ซึ่งเป็นรัฐที่พยายามผลักดันกฎหมายจำกัดสิทธิ์ดังกล่าว
ในการพิพากษาของศาลสูงครั้งนี้ หัวหน้าคณะผู้พิพากษา จอห์น โรเบิร์ต ลงมติร่วมกับผู้พิพากษาหัวเสรีนิยม เห็นด้วยกับคำพิพากษาให้ยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิ์ในการทำแท้ง ด้วยการบังคับให้ผู้ที่ต้องการเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์และทำการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น
โฆษกทำเนียบขาว เคลีย์ แมคเอนานีย์ ให้ความเห็นว่า คำตัดสินล่าสุดของศาลสูงนี้ ทำให้ความสำคัญของสุขภาพของผู้เป็นแม่และเด็กที่ยังไม่เกิดมาเป็นเรื่องด้อยค่าลง พร้อมระบุว่า ศาลสูงสหรัฐฯ ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงการทำงานของผู้ว่าการรัฐและผู้แทนสภารัฐในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ์การทำแท้ง
อย่างไรก็ตาม คำตัดสินนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์การทำแท้ง และเป็นการพ่ายแพ้ครั้งหนึ่งของผู้ที่ต่อต้านเสรีภาพในการทำแท้งในสหรัฐฯ
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขประเมินว่า มีการทำแท้งกว่า 800,000 ครั้งในสหรัฐฯ ในแต่ละปี ในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าสถิติระหว่างปี ค.ศ. 1978 และ ปี ค.ศ. 1997 ซึ่งอยู่ที่กว่า 1 ล้านครั้ง
28 มิถุนายน 2020
ศาลสูงสหรัฐฯ ตัดสินว่ากฎหมายรัฐเท็กซัสเพิ่มภาระเกินควรให้กับผู้หญิงที่ต้องการทำแท้ง!
ศาลสูงสหรัฐมีคำพิพากษายืนยันสิทธิ์ในการทำแท้งเมื่อวันจันทร์ ที่กล่าวว่า รัฐต่างๆ ในประเทศไม่มีสิทธิ์ที่จะจำกัดสิทธิ์ของผู้หญิงที่จะทำแท้ง โดยการ “เพิ่มภาระเกินควร” ให้กับผู้หญิงเพื่อสกัดกั้นการเข้าถึงคลินิกทำแท้ง
คำตัดสินของศาลสูงสหรัฐเมื่อปี ค.ศ. 1973 ระบุไว้ว่า การทำแท้งเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญของประเทศ นับแต่นั้นมา มีการรณรงค์ต่อต้านการทำแท้งในสหรัฐมาตลอด โดยฝ่ายที่ต่อต้าน หรือเรียกกันง่ายๆว่า ‘pro-life’ จะผลักดันให้รัฐบาลในระดับรัฐ ออกกฎหมายที่ไม่ห้ามการทำแท้งโดยตรง แต่กำหนดเงื่อนไขอื่นๆที่ทำให้ผู้หญิงไปรับบริการทำแท้งได้ยากมากขึ้น
คำตัดสินของฝ่ายเสียงข้างมากของศาล มีผลยกเลิกกฎหมายรัฐเท็กซัส ซึ่งคล้ายคลึงกับกฎหมายที่หลายรัฐออกมาในเรื่องนี้ ที่กำหนดให้คลินิกทำแท้งต้องมีอุปกรณ์ระดับเดียวกับโรงพยาบาล และแพทย์ของคลินิกจะต้องมีสิทธิ์พาคนไข้เข้าโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้คลินิกทำแท้งได้ด้วย โดยให้ความเห็นว่าเป็นกฎหมายที่เพิ่มภาระเกินควรให้กับผู้หญิงที่ต้องการรับบริการทำแท้ง
ผู้พิพากษา Stephen Breyer ซึ่งเป็นผู้เขียนแสดงความเห็นของฝ่ายเสียงข้างมาก กล่าวต่อไปด้วยว่า ข้อกำหนดตามกฎหมายของรัฐเท็กซัสดังกล่าว เป็นข้อกำหนดที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และเป็นการจำกัดสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญของผู้หญิงในการทำแท้ง
รัฐเท็กซัสให้ความเห็นไว้ว่า กฎหมายดังกล่าวช่วยคุ้มครองสุขภาพของผู้หญิงที่ไปรับบริการทำแท้ง แต่ฝ่ายที่สนับสนุนสิทธิ์ในการทำแท้ง หรือที่เรียกกันว่า ‘pro choice’ กล่าวว่า กฎหมายของรัฐเท็กซัสและรัฐอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน เป็นความพยายามของรัฐที่เป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่จะลดจำนวนการทำแท้ง เฉพาะในรัฐเท็กซัสมีการทำแท้งเฉลี่ยปีละ 70,000 ราย
ในขณะที่ผู้บริหารงานยุติธรรมของรัฐเท็กซัส ออกมาประณามคำตัดสินของศาลสูงว่า ได้ยึดเอาสมรรถนะของประชาชนและผู้แทนของรัฐเท็กซัสที่มาจากการเลือกตั้ง ในการปกป้องคุ้มครองสุขภาพของผู้หญิงไป
ฝ่ายที่สนับสนุนสิทธิ์ของผู้หญิงที่จะทำแท้ง ให้ความเห็นว่า ศาลสูงส่งข้อความที่ชัดเจนและดังออกมาว่า นักการเมืองจะไม่สามารถใช้กลลวงเพื่อปิดคลินิกทำแท้ง
กฎหมายในเรื่องนี้ของรัฐเทกซัสมีออกมาเมื่อปี ค.ศ. 2013 และฝ่ายที่สนับสนุนสิทธิ์ของผู้หญิงบอกว่า กฎหมายดังกล่าวบีบให้คลินิกทำแท้งของเท็กซัส ซึ่งเคยมีประมาณ 40 แห่ง ต้องปิดลงไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง
คาดกันว่า ประเด็นเรื่องสิทธิ์ในการทำแท้งของผู้หญิงจะเป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่งในการหาเสียงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปีนี้
โดยอดีตรัฐมนตรี Hillary Clinton สนับสนุนสิทธิ์ของผู้หญิง ส่วนนาย Donald Trump ซึ่งในอดีตหลายปีมาแล้ว เคยสนับสนุนสิทธิ์ที่ว่านี้ แต่เวลานี้ในฐานะตัวแทนของพรรครีพับลิกันที่จะเข้าช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาระบุตนเองว่าเป็นฝ่าย ‘pro life’
อย่างไรก็ตาม สถิติแสดงให้เห็นว่า เมื่อใช้มาตรการคุมกำเนิดที่ดีขึ้น จำนวนการทำแท้งในสหรัฐลดลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ในขณะที่รัฐต่างๆ ที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ได้ออกกฎหมายต่อต้านการทำแท้งมาแล้วมากกว่า 250 ฉบับในช่วงเกือบหกปีที่ผ่านมา
ที่มา: https://youtu.be/Zypfzv-GaGE