วัดแม่นางปลื้ม
“วัดแม่นางปลื้ม”
มีตำนานเรื่องเล่าอยู่ว่า แม่ปลื้มเป็นชาวบ้านอยู่ริมน้ำชานพระนครคนเดียว ไม่มีลูกหลาน วันหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงพายเรือมาแต่พระองค์เดียว ท่ามกลางสายฝน เมื่อเสด็จมาถึงเห็นกระท่อมยังมีแสงตะเกียง จึงทรงแวะขึ้นมาในกระท่อม ...แม่นางปลื้มเห็นว่าเสื้อผ้าพระองค์เปียกจึงได้กล่าวเชื้อเชิญด้วยความมีน้ำใจ แต่พระองค์ท่านทรงตรัสเสียงดัง แม่ปลื้มจึงกล่าวเตือนว่าอย่าเสียงดังนัก เวลาค่ำถ้าพระเจ้าแผ่นดินได้ยินจะทรงโกรธ พระองค์กลับตรัสด้วยเสียงอันดังว่าอยากดื่มน้ำจันทน์เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น แม่ปลื้มกลับตกใจขึ้นอีก เพราะเป็นวันพระ จึงได้กล่าวว่า ถ้าจะดื่มจริงๆ ต้องไม่ให้เรื่องถึงพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงรับปาก จากนั้นพระองค์ทรงประทับค้างคืนที่บ้านของแม่ปลื้ม เช้าจึงเสด็จกลับวัง ต่อมาทรงให้จัดขบวนมารับแม่ปลื้มไปเลี้ยงในวัง ด้วยความที่แม่ปลื้มเป็นคนมีเมตตา จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อแม่ปลื้มเสียชีวิต สมเด็จพระนเรศวรจัดงานศพให้สมเกียรติ และสร้างวัดแห่งนี้ไว้ที่เป็นระลึก
ตามข้อมูลกรมศิลปากร ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้กล่าวถึงวัดแห่งนี้ว่า เคยเป็นที่ตั้งค่ายทัพของข้าศึกในช่วงเหตุการณ์ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 3 – 4 มีการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและวิหาร ภายในเขตโบราณสถานประกอบด้วยอาคารที่สำคัญได้แก่
เจดีย์ประธานทรงระฆัง พบร่องรอยการบูรณะ 3 ครั้ง สิ่งที่พิเศษคือ บริเวณส่วนฐานปรากฏประติมากรรมปูนปั้นรูปสิงห์ล้อม ซึ่งอาจเป็นการดัดแปลงมากจากคติเจดีย์ช้างล้อมที่นิยมในวัฒนธรรมสุโขทัย
วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐ ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อขาว” พระพุทธรูปประธานสมัยอยุธยาที่มีร่องรอยการบูรณะในสมัยปัจจุบัน
พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหาร ลักษณะเป็นอาคารที่มีกาปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 – 4 และมีการตกแต่งหน้าบันด้วยเครื่องถ้วยประเภทต่างๆ รวมทั้งใบเสมาที่เป็นของสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว
ตำแหน่งที่ตั้ง: วัดแม่นางปลื้ม ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางทิศเหนือ ด้านหน้าของวัดหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่คลองเมือง กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2538