ห้องชุดที่เพิ่งสร้างเสร็จมีคนเข้าอยู่ไหม
หลายคนสงสัยว่าห้องชุดที่สร้างเสร็จมา 6-12 เดือนมีคนย้ายเข้าอยู่หรือไม่ ล้นตลาดไหม ร้างไหม เจ๊งไหม ฯลฯ ในเมืองไทย ดร.โสภณ ตอบได้คนเดียว
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะที่เป็นศูนย์ข้อมูลฯ ที่สำรวจวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2537 กล่าวว่า ดร.โสภณได้สำรวจตลาดอาคารชุดที่สร้างเสร็จและมีผู้เข้าอยู่อาศัย 6-12 เดือน ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ที่เสร็จก่อน 6 เดือนไม่สำรวจเพราะยังอยู่ในช่วงตกแต่ง ยังไม่พร้อมย้ายเข้าอยู่ จึงดูเฉพาะที่สร้างเสร็จ 6-12 เดือน
จากการสำรวจแต่ละห้องชุดพบว่า
1. ห้องชุดที่สร้างเสร็จในช่วง 6-12 เดือนนั้นมีอยู่ 54,309 หน่วย แต่ยังเหลือขายอยู่ในมือผู้ประกอบการอยู่ 9,119 หน่วย หรือ 17% ที่ขายไปแล้วมี 45,190 หน่วย (83%)
2. ในจำนวนที่ขายแล้ว 45,190 หน่วย มีผู้เข้าอยู่แล้ว 28,605 หน่วย หรือ 63% ของหน่วยที่ขายไปแล้ว หรือ 52% ของหน่วยทั้งหมดนั่นเอง ที่เหลือคงทยอยย้ายเข้าอยู่หรือไม่ก็รอขาย รอเช่าอยู่นั่นเอง
3. ผู้ที่อยู่อาศัยเป็นผู้ซื้ออยู่ 22,783 หน่วย หรือ 80% ของหน่วยที่มีคนอยู่ ในขณะที่ผู้เช่ามีเพียง 20% เท่านั้น หรือถ้าเทียบกับหน่วยที่สร้างเสร็จ 45,190 หน่วย ผู้ซื้ออยู่มีสัดส่วนเป็น 50% และเมื่อเทียบกับหน่วยขายทั้งหมด 54,309 หน่วย จำนวนผู้เข้าอยู่แล้วก็เป็น 42%
4. ผู้อยู่อาศัยถึง 87% เป็นคนไทย ในขณะที่อีก 13% เป็นคนต่างประเทศที่ส่วนมากมาเช่าอยู่อาศัย แสดงว่าคนต่างชาติมาอยู่ไม่มากนัก
5. ราคาในช่วง 6-12 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่าลดลง 0.1% แสดงว่าราคาไม่เพิ่มขึ้นเลย โอกาสที่จะลงราคาก็มีเช่นกัน อย่างไรก็ตามมีอัตราผลตอบแทนจากการให้เช่า 4.6% โดยประมาณการจากการนำค่าเช่าตลาดรายเดือน คูณด้วย 10 เดือน หารด้วยราคาตลาด อัตราผลตอบแทนนี้ไม่คุ้มที่จะไปกู้สถาบันการเงินมาซื้อห้องชุดแล้วปล่อยเช่า แต่เมื่อ 2-3 ปีก่อนที่ซื้อมาปล่อยเช่า ยังคุ้มอยู่ ทั้งนี้ค่าเช่าตลาดในขณะนี้เฉลี่ยตารางเมตรละ 513 บาท
ดังนั้นจึงสรุปว่า ห้องชุดในขณะนี้ยังมีผู้อยู่อาศัยที่ซื้อแล้ว เป็น End Users มากพอสมควร ซึ่งต่างจากในช่วงวิกฤติปี 2540-2543 ที่มีซื้ออยู่ 1/3 ผู้เช่าอยู่ 1/3 และยังว่างอยู่ 1/3 พอๆ กัน ตลาดห้องชุดในช่วงที่ผ่านมายังเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงเป็นหลัก อย่างไรก็ตามพอมีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลังก็เลยล้นเกินความต้องการของตลาดไปในที่สุด