ศรีสะเกษ โควิด – 19 ติดเชื้อพุ่ง 6 ราย แล้วล่าสุดสาวแม่บ้านสามีชาวต่างชาติ ขณะที่ประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงทะลักเข้า จ.ศรีสะเกษจำนวน 14,124 คน
ศรีสะเกษ โควิด – 19 ติดเชื้อพุ่ง 6 ราย แล้วล่าสุดสาวแม่บ้านสามีชาวต่างชาติ ขณะที่ประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงทะลักเข้า จ.ศรีสะเกษจำนวน 14,124 คน
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 63 นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 พบว่า มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มขึ้นอีก 1 ราย (รวมสะสม จำนวน 6 ราย) รักษาหายให้กลับบ้านแล้ว จำนวน 1 ราย และยังคงนอนพักรักษาที่โรงพยาบาล จำนวน 5 ราย จากข้อมูลของกรมการปกครอง พบว่า มีข้อมูลการเดินทางของประชาชนจากนอกพื้นที่ (กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล) เข้ามายังจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 14,124 คน เดินทางมาจาก
ต่างประเทศ จำนวน 176 คน เดินทางในประเทศ จำนวน13,948คน และจากการคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยง พบกลุ่มเสี่ยงรายใหม่ที่ต้องเฝ้าระวังภายใน 14 วัน เพิ่มขึ้นเป็น 5 ราย รวมยอดสะสม 304 ราย ทั้งนี้ บุคคลที่ได้มีการเฝ้าระวังครบ 14 วันและไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 219 ราย และยังอยู่ในระยะที่
ต้องเฝ้าระวัง (ยังไม่ครบ 14 วัน) จำนวน 85 ราย สำหรับผู้ที่นอนสังเกตอาการอยู่ในโรงพยาบาล แยกเป็น กลุ่มเสี่ยงสูง (สัมผัสผู้ป่วย) จำนวน 3 คน และกลุ่มที่สังเกตอาการที่เข้าข่ายต้องสอบสวนโรค จำนวน 13 คน
ทางด้าน นายแพทย์วราวุธ ชื่นตา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยรายที่ 6 เป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 36 ปี อาชีพแม่บ้านมีสามีชาวต่างชาติ อาศัยอยู่ที่บ้านโคกเพ็ก ตำบลโคกเพ็ก อำเภอพยุห์ จากการสอบสวนโรค พบว่า ผู้ป่วยเดินทางไปอังกฤษ เมื่อเดือนตุลาคม 2562 และเดินทางกลับถึงประเทศไทย พร้อมสามี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ระหว่างวันที่ 17-24 มีนาคม 2563 ได้ใช้ชีวิตประจำวัน ด้วยการเข้าพักที่โรงแรมแถวสุขุมวิท และเข้ารับบริการนวดแผนไทย เที่ยว ดื่ม ทานอาหารที่ร้านอาหาร ผับ ติดต่อทำวีซ่า รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ณ ย่านสุขุมวิท วันที่ 25 มีนาคม 2563 ได้ส่งสามีเดินทางกลับอังกฤษ และผู้ป่วยได้เดินทางไปพัทยา เข้าพักที่โรงแรมในพัทยา วันที่ 26 มีนาคม 2563 ได้ขึ้นรถทัวร์กลับมายังจังหวัดศรีสะเกษ วันที่ 27 มีนาคม 2563 ได้ว่าจ้างรถรับจ้างจากสถานีขนส่งจังหวัดศรีสะเกษ ไปส่งที่บ้านโคกเพ็ก อำเภอพยุห์ (ในระหว่างนี้ผู้ป่วยได้พูดคุยกับญาติให้แยกที่พัก และกักตัวตามนโยบาย โดยมีญาตินำอาหารมาส่ง วันที่ 28 มีนาคม 2563 ผู้ป่วยเริ่มมีอาการครั่นเนื้อ ครั่นตัว ปวดเมื่อยตามตัว เหนื่อย เพลีย ทานอาหารไม่ได้ เริ่มมีอาการไอถี่บ่อยครั้ง วันที่ 29 มีนาคม 2563 ญาติได้แจ้งประสาน อสม. และโรงพยาบาลพยุห์ มารับตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษา และได้ส่งตรวจหาเชื้อ และในวันที่ 30 มีนาคม 2563 ได้รับผลการตรวจยืนยันพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ ซึ่งตนได้แจ้งให้สาธารณสุขอำเภอพยุห์ ลงพื้นที่ออกให้คำแนะนำผู้สัมผัสผู้ป่วย ให้แยกตนเองออกจากบุคคลอื่นอย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 14 วัน และรายงานการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ส่งทางระบบไลน์แก่เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคในพื้นที่ทุกวัน ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อาทิญาติ และผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อ ทำความสะอาดบ้าน บริเวณรอบบ้าน และสถานที่ที่ผู้ป่วยเดินทางไปในหมู่บ้าน แนะนำจัดทำอ่างล้างมือในบริเวณร้านชำ ร้านอาหาร ร้านค้าชุมชน วัด หน่วยราชการในพื้นที่ ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ในการดูแลตนเอง ล้างมือบ่อยครั้ง กินร้อน แยกภาชนะการรับประทานอาหาร งดการทานข้าวร่วมกัน แยกระยะห่าง 1-2 เมตร ในการทำกิจกรรมหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ งดพบปะสังสรรค์
ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน
ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าว จ. ศรีสะเกษ