ชาวบ้าน ต.สะกอม อ.จะนะ ตื้นตันใจ ที่ดินทำกินได้รับการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
วันที่ 6 มี.ค. 63 ประชาชนในพื้นที่ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พร้อมหัวหน้าราชการส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. และประชาชนในพื้นที่ ร่วมประชุมหารือการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานของคณะบูรณาการความร่วมมือ และการสร้างความเข้าใจในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พร้อมลงพื้นที่สำรวจการรางวัดที่ดินของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช ซึ่งเข้ารางวัดที่ดินตามที่ประชาชนในพื้นที่ยื่นคำขอและร้องเรียนความเดือดร้อนถึง ศอ.บต. ซึ่งศอ.บต.ได้ดำเนินการนำข้อร้องเรียนดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม
นางมารียะห์ อนันทบริพงศ์ ชาวบ้านหมู่ที่ 6 ต.สะกอม จ.สงขลา ได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ว่า มีมาอย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งชาวบ้านได้ยื่นเรื่องขอเอกสารสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง เพราะบางครัวเรือนอาศัยอยู่ในพื้นที่มากว่า 50 ปีแล้ว ขณะนี้รัฐบาลและศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแลก็สบายใจ ตื้นตันใจ เพราะดำเนินการเรื่องที่ดินมานาน ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาได้ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตามที่ชาวบ้านร้องขอ
ด้าน นางมารีหยาม โต๊ะหยิม ชาวบ้านหมู่ที่ 6 ต.สะกอม กล่าวว่า ตนอาศัยอยู่ในพื้นที่กว่า 40 ปี ขอเอกสารสิทธิ์ตั้งแต่เข้ามาอาศัยในพื้นที่แต่ก็ยังไม่ได้ ตอนนี้มีหน่วยงานเข้ามาให้ความช่วยเหลือก็ดีใจกันทั้งบ้านแล้ว ก็ขอร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนให้ได้
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมกพต. ยังมีการพิจารณาปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่ตำบลนาทับ ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ระเบียบและประกาศ ทับซ้อนหลายฉบับ เนื่องจากบางส่วนเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการทับซ้อนเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาโดยไม่ชักช้า
นางมงคล แดงกัน หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขาปะช้าง-แหลมขาม จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ขณะนี้ได้รางวัดที่ดินแล้วประมาณ 3,000 ไร่ ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎร ซึ่งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ ซึ่งราษฎรอาศัยและทำกิน ในพื้นที่ อ.จะนะ และอ.เทพา แต่ยืนยันว่า การสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจเพื่อให้สิทธิทำกินแก่ประชาชน ไม่ได้ให้เอกสารสิทธิ์ในการซื้อขาย และต้องดูแลธรรมชาติโดยรอบให้คงเดิม ซึ่งสามารถทำกินได้เป็นระยะเวลา 20 ปี และจะสามารถต่ออายุได้ตามที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ดี การจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชนเป็นหนึ่งแนวทางในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีผู้ลงทะเบียนผู้มีมีรายได้ต่ำในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และพบว่า และมีข้อมูลการว่างงานและขาดปัจจัยพื้นฐานในการประกอบอาชีพ นั้นคือ ที่ดินทำกิน เป็นจำนวนมาก อีกทั้งการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน จะเป็นการลดจำนวนผู้แห่งต่างจากรัฐ ซึ่งมีแนวคิดว่า ไม่ได้รับการดูแล