ไผ่กอหลวง ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์
จุดท่องเที่ยวบ้านตะกาง ไผ่กอหลวง ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์
หลายคนอาจจะคุ้นหู และได้ยินคำว่า ไผ่กอหลวง กันมาบ้างแล้ว ซึ่งมีประวัติความเป็นมา และเป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจสำหรับคนในพื้นที่ ไม้ไผ่กอหลวงนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ ตำบลตะกาง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ตามข้อมูลหน่วยศิลปากรที่ 5 กรมศิลปากร กล่าวว่า เป็นไม้ไผ่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นของหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือรัชกาลที่ 6 เพื่อใช้ทำผืนระนาด และในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผู้ทำผืนระนาดจากไม้ไผ่กอนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงโปรดให้อนุรักษ์ไม้ไผ่กอนี้ไว้ให้ดี จึงได้เรียกชื่อต่อกันมาว่า "ไผ่กอหลวง" ตามข้อมูล ครูฉนวน บุญล้อม ให้ข้อมูลว่า ไผ่กอหลวงนี้อยู่ในที่ดินแปลงที่ได้รับมรดกจากบิดา และบิดาได้เล่าให้ฟังว่า เป็นไผ่คุณภาพดี เหมาะสำหรับทำผืนระนาด แม้ในที่ดินแปลงนี้จะมีไผ่กออื่น แต่คุณภาพไม่ดีเท่าไผ่กอนี้ โดยด้านนายอำนาจ สาระเนตร นักดนตรีไทย ผู้มีฝีมือในการทำผืนระนาดจำหน่าย กล่าวว่า ไผ่กอหลวง เป็นไม้ไผ่ตงที่มีลักษณะพิเศษกว่าไผ่ธรรมดา คือ เนื้อไม้ละเอียด สีผิวออกเหลือง มีร่องของเนื้อไม้ลึก เมื่อนำมาทำผืนระนาด จึงมีความสวยงาม เสียงดังไพเราะพลิ้วไหวจับใจ กังวานไปไกลกว่าไผ่ชนิดอื่น นายไพฑูรย์ เฉยเจริญ หัวหน้างานเครื่องดนตรีไทยกองสังคีต ฝ่ายดุริยางค์ไทย ยืนยันว่า ไผ่จากจังหวัดตราด เป็นไผ่คุณภาพดีที่สุดในการทำระนาด เนื่องจากพื้นที่ปลูกค่อนข้างสูงและอยู่ติดทะเล ไม้ไผ่จึงมีความแข็งแกร่งกว่าที่อื่น
ด้วยคุณสมบัติ ความเป็นมาที่สำคัญ ทำให้ไผ่กอหลวงนี้เป็นที่สนใจ เกิดเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญ ของพื้นที่ บ้านตะกาง รวมถึงการดูแลรักษาต้นไผ่ เกิดหน่อไผ่ขึ้นมาเป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้น เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดตราด ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และเที่ยวชม ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา รวมถึงเป็นสถานที่ถ่ายภาพและเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดตราด...
สุนิสา สังข์ทอง/ ธนเดช เดชะเทศ จ.ตราด