จิตเวชโคราช แนะประชาชนใช้ “8 วิธี” คลายเครียด คลายทุกข์ใจ !!!! จากเหตุกราดยิงที่โคราช
รพ.จิตเวชนครราชสีมา แนะประชาชนใช้ 8 วิธีลดเครียดหลังเหตุกราดยิงที่โคราช เพื่อช่วยให้กายใจปรับตัวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว อาทิ ลดหรือหลีกเลี่ยงติดตามดูข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ใช้ชีวิตตามปกติที่เคยเป็น พูดคุยกับคนอื่น จะช่วยระบายทุกข์ในใจออกมา การหายใจคลายเครียด อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและเป็นปกติใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่หากปฏิบัติแล้วยังไม่สบายใจ ขอให้เข้ารับบริการที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ หรือโทรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่รพ.จิตเวชฯ หมายเลข 0-4423-3999 หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า เหตุการณ์กราดยิงในเมืองโคราชเมื่อวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เป็นสถานการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนเป็นอันมาก ขณะนี้ทีมเอ็มแคท (MCATT) หรือทีมเยียวยาจิตใจในภาวะวิกฤติได้เร่งดำเนินการดูแล ปฏิบัติงานกันอย่างเต็มที่ เพื่อลดความรุนแรงทางจิตใจจากผลกระทบครั้งนี้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ปัญหาที่พบมากในช่วงนี้คือความเครียด ซึ่งเป็นสภาวะทางอารมณ์ของผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์ที่เกิดอย่างไม่คาดฝันหรือไม่ทันตั้งตัว จะมีอาการปรากฏได้หลายแบบแตกต่างกัน เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ หายใจไม่อิ่ม ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดเมื่อย ใจสั่น วิตกกังวล กลัวโดยไม่มีเหตุผล คิดมาก หงุดหงิดง่าย ความคิดวนเวียน โมโหง่าย ไม่อยากพูดจากับใคร เป็นต้น
นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวว่า ความเครียดที่กล่าวมาประชาชนสามารถจัดการ ดูแลแก้ไข คลี่คลายบรรเทาในเบื้องต้นด้วยตนเอง มีคำแนะ 8 วิธี ดังนี้
1.ให้ดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติ
2.ร่วมมือกันไม่แชร์ ไม่โพสต์ภาพเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสื่อโซเชียล เนื่องจากภาพในอดีต จะตอกย้ำให้หวนระลึกถึงเหตุการณ์ กระทบต่อจิตใจซ้ำๆ และยังกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกให้เกิดความหดหู่ หรือน่าสะพรึงกลัวขึ้นมาอีก
- ขอให้ลดหรือหลีกเลี่ยงการติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะการรับประทานให้ครบทั้ง5 หมู่ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน เมื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรง จะส่งผลให้สุขภาพจิตดีไปด้วย
- อย่าเก็บความไม่สบายใจไว้คนเดียว ขอให้พูดคุยปรับทุกข์กับคนใกล้ชิด จะช่วยระบายทุกข์ออกจากใจ และพูดให้กำลังใจกัน จะทำให้จิตใจดีขึ้น
- ลงมือทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การออกกำลังกายตามความถนัด อย่างน้อยวันละ30 นาที จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขออกมา ทำให้สมองโล่ง สดชื่น นอนหลับได้ดีขึ้น หรือทำงานอดิเรกที่ชอบ จะทำให้จิตใจมีสมาธิ และมีความสุขใจขึ้น
- การฝึกการหายใจเพื่อคลายเครียด ซึ่งทำได้ง่ายทุกสถานที่ และทุกครั้งที่มีความเครียด ไม่สบายใจ โดยนั่งในท่าสบาย หลับตาลง เอามือประสานกันวางที่บริเวณท้อง จากนั้นให้ค่อยๆ สูดลมหายใจเข้าโดยให้นับเลขในใจ1-4 เป็นจังหวะช้าๆ เพื่อให้มือรู้สึกว่าหน้าท้องพองขึ้น จากนั้นให้กลั้นลมหายใจไว้ชั่วครู่ โดยนับเลข 1-4 เป็นจังหวะช้าๆ เช่นเดียวกับการหายใจเข้า จากนั้นจึงค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออก โดยให้นับเลขในใจ 1-8 จนลมออกหมด จะรู้สึกว่าหน้าท้องแฟบลง แล้วทำตามขั้นตอนเดิมซ้ำอีก 4-5 ครั้ง โดยให้ช่วงการหายใจออกนานกว่าช่วงหายใจเข้า ซึ่งจะทำให้ก๊าซออกซิเจนไปเลี้ยงที่สมอง จะทำให้สมองโล่ง แจ่มใสขึ้น
นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวอีกว่า การปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น จะช่วยให้ความเครียดบรรเทาลง การปรับตัวจะค่อยๆ ดีขึ้นและเป็นปกติใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่หากปฏิบัติแล้วยังรู้สึกไม่สบายใจ ความคิดยังวนเวียน สับสน สามารถขอรับบริการปรึกษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือเข้าปรึกษากับทีมเอ็มแคทที่ออกบริการใกล้บ้าน หรือที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ และอาจขอรับบริการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0-4423-3999 ตลอด 24 ชั่วโมง และทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง