"วัตถุวิสัย" กับ "อัตวิสัย"
วัตถุวิสัย (Objective) คือการยึดตามข้อเท็จจริงเป็นหลัก ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เป็นรูปธรรม ไม่ลำเอียง ไม่อคติ สามารถนับ/ชั่ง/ตวง/วัดได้ มีจำนวน/ปริมาณแน่นอน เมื่อให้คนใดคนหนึ่งหรือทุก ๆคนให้ความคิดเห็นก็จะไม่แตกต่างกัน เช่น หินก้อนหนึ่ง ถามใครว่ามันคืออะไร? ทุกคนก็ตอบได้คำตอบเดียวกันว่าหิน
อัตวิสัย (Subjective) คือขึ้นอยู่กับความคิด ความชอบ อารมณ์ส่วนตัว เป็นนามธรรม มีจำนวนไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปตามความคิด/ประสบการณ์/อารมณ์/ความชอบ-ไม่ชอบ ไม่สามารถนับ/ชั่ง/ตวง/วัดได้ เมื่อให้หลาย ๆคนให้ความคิดเห็นก็จะแตกต่างกันไป แม้แต่คนเดียวกันเมื่อสถานการณ์/สภาพแวดล้อม/เวลาผ่านได้ ความคิดเห็นเดิมนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่นการกระทำที่ถือว่าความดี เมื่อถามหลาย ๆคนคำตอบอาจแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะประเมินว่าการกระทำนั้น ๆเป็นความดีหรือไม่? และยังประเมินค่าความดีในระดับที่แตกต่างกันไปอีกด้วย บางคนบอกดีมาก ดี พอใช้ ปกติ ไม่ดี เลว เลวมาก เมื่อสถานการณ์/สภาพแวดล้อม/กาลเวลาผ่านไป เรื่องเดิมประเมินด้วยคนเดิมค่าที่ได้ก็อาจเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้นในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการแบ่งฟาก แบ่งฝ่าย แบ่งขั้ว จึงพบได้บ่อย ๆว่าเรื่องเดียวกันแต่ความคิดเห็นของต่างคนก็อาจจะเหมือนกันหรือแตกต่างกันได้ เพราะแต่ละคนยึดเรื่องเหล่านั้นเป็นอัตวิสัย คือประเมินค่าหรือตีความตามประสบการณ์/อารมณ์/ความรู้สึกนึกคิด/ฟาก-ฝ่ายที่แต่ละคนชอบ-ไม่ชอบ
หลายเรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องวัตถุวิสัย เช่น ทำผิด/ถูกกฎหมาย เพราะประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร บัญญัติไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นควรจะมีข้อยุติเพียงด้านเดียว ไม่ควรที่จะใช้อัตวิสัยมาชี้ว่าถูก/ผิดกฎหมาย (นอกจากว่าผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่มีความรู้ในเรื่องกฎหมายที่บัญญัติไว้ ก็ย่อมใช้ความรู้สึกนึกคิด/อารมณ์/ความชอบ เข้ามาตัดสินทำให้กลายเป็นเรื่องอัตวิสัย) แม้กระทั่งเมื่อมีคนกลาง คือศาลเข้ามาทำหน้าที่ตัดสิน หากคนใดคนหนึ่งพอใจในคำตัดสินก็จะยินดี หากไม่พอใจก็จะสาปแช่งและมีคำถามตามมาว่าศาลยุติธรรมหรือไม่?
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมจึงเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม นั่นก็เพราะคนในสังคมทำให้ทุกเรื่องเป็นนามธรรมและตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างด้วยอัตวิสัยส่วนตัวนั่นเอง โดยเฉพาะเรื่องการเมือง