ร้องนายกฯ ค้านใช้สถานที่เอกชนต่ออายุแรงงานต่างด้าว
สุดทน ! จ่อร้องนายกฯค้านใช้สถานที่เอกชนต่ออายุแรงงานต่างด้าว
ตัวแทนบริษัทจัดหาแรงงาน และตัวแทนนายจ้างแรงงานต่างด้าว จังหวัดจันทบุรี ยื่นหนังสือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด คัดค้านการใช้สถานที่ของบริษัทเอกชนเป็นศูนย์ OSS บริการต่ออายุแรงงานต่างด้าวในระบบ MOU พิเศษ หากยังละเลยจะเข้าร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรี
ช่วงบ่ายเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2562 ที่ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี ได้มีตัวแทนบริษัทจัดหาแรงงานและตัวแทนนายจ้างแรงงานต่างด้าวประมาณ 200 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี เพื่อร้องขอความเป็นธรรม กรณีที่จัดหางานจังหวัดจันทบุรี จะใช้สถานที่ของบริษัทเอกชนเป็น ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ One Stop Service หรือ OSS บริการต่ออายุแรงงานต่างด้าวในระบบ MOU พิเศษ โดยนายพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีได้มารับหนังสือร้องเรียนแทนผู้ว่าราชการจังหวัด
โดย นายวินัย กิจพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทนำคนงานต่างด้าวเข้าทำงานในประเทศไทย เฟอร์ เออีซี จำกัด ซึ่งเป็นแกนนำในครั้งนี้ กล่าวว่า การที่ทางจังหวัดจะเปิดศูนย์บริการ one stop service ต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวบัตรสีชมพู ที่จะหมดอายุ 31 มีนาคม 2563 ณ บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 9 ต.พลับพลา อ.เมือง จันทบุรี เห็นว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นของมารดาเจ้าของบริษัทนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศ เอ็น.เอส.เลเบอร์ จำกัด ซึ่งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชน และอาจมีปัญหาในการอำนวยความสะดวกให้แรงงานต่างด้าวที่จะไปใช้บริการ จึงขอให้ทางจังหวัดทบทวนใช้สถานที่ของทางราชการเป็นศูนย์ OSS บริการต่ออายุแรงงานต่างด้าวในระบบ MOU พิเศษแทน
“ ตนเองเคยไปร้องทุกข์ ถึงอธิบดีกรมจัดหางาน และ มาร้องเรียนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบรี แล้ว แต่ยังไม่มีการแกไข้ทบทวน ซ้ำล่าสุด มีความพยายามวิ่งเต้นให้หัวหน้าจัดหางานคนเก่าที่ถูกย้ายไปจังหวัดอื่น เพื่อขอให้เปิดบริการต่อวีซ่าแรงงานต่างด้าวที่สถานที่เอกชนดังกล่าว ซึ่งตนขอคัดค้านเต็มที่เพราะไม่เหมาะสมเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดหรือไม่ ทั้งที่ยังมีสถานที่ราชอื่นหลายแห่งสามารถใช้ได้ เช่น อบจ.,เทศบาล เป็นต้น”นาย วินัย กล่าว
ด้านนายพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีกล่าวยืนยันว่า ทางจังหวัดเลือกสถานที่แห่งนี้ในการต่ออายุแรงงานต่างด้าวไม่ได้เอื้อประโยชน์กับบริษัทเอกชนแต่อย่างใด เป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการที่พิจารณาอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงความสะดวกแก่แรงงานที่จะมาใช้บริการ อีกทั้งสถานที่ราชการเดิมที่เคยใช้ในการจดทะเบียนครั้งที่ผ่านมาคืออาคารศูนย์พระยืน เทศบาลเมืองจันทบุรี มีสภาพชำรุดไม่เหมาะสมที่จะให้นายจ้าง แรงงานต่างด้าว และเจ้าหน้าที่ไปทำงานเนื่องจากเกรงในเรื่องความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกอาจไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม หากการเปิดใช้บริการ one stop service ต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวในระบบ MOU พิเศษที่จะเริ่มในวันที่ 16 ธันวาคม นี้ หากนายจ้างเห็นว่าเดือดร้อนไม่สะดวก ทางจังหวัดก็พร้อมที่จะยินดีปรับปรุงและรับข้อเสนอเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป
มีรายงานว่า ทางตัวแทนที่มายื่นหนังสือได้ยืนยันขอให้จังหวัดเปลี่ยนสถานที่มาใช้ที่หน่วยงานรัฐเพื่อความโปร่งใสเป็นธรรม จากนั้นทั้งหมดได้เดินทางกลับ แต่ยังคงยืนยันว่า หากไม่มีการดำเนินการย้ายสถานที่ศูนย์บริการต่อวีซ่าแรงงานต่างด้าว มาเป็นสถานที่หน่วยงานของรัฐ ตามที่เรียกร้อง พวกตนจะเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และศูนย์ดำรงธรรม ของกระทรวงแรงงาน ต่อไป