อาชีพชาวสงขลา เมื่อ 100 ปีที่แล้ว
เคยสงสัยกันมั้ยว่าเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ชาวสงขลา มีวิถีชีวิตยังไง ประกอบอาชีพอะไรกัน เรื่องราวในอดีตล้วนเป็นรากฐาน สามารถบอกเล่าวันวานที่มีการก่อร่างสร้างเมืองได้ HatyaiFocus พาทุกท่านย้อนเวลาเสาะหาอาชีพของคนในสงขลาเมื่อครั้นปี พ.ศ. 2427 (133 ปีที่แล้ว)
ทีมงาน HatyaiFocus มีโอกาสสืบค้นหนังสือ ชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาค 7 รายงานการเสด็จตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ เนื้อหากล่าวถึงประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นนั้น ๆ สภาพบ้านเมือง ความเป็นอยู่ขนบประเพณี ตลอดจนการอาชีพและภูมิศาสตร์ของท้องถิ่น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช บันทึกเพื่อถวายแก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อก พ.ศ. 2427 หรือที่ชาวบ้านออกพระนามว่า "สมเด็จวังบูรพา" เพราะทรงมีวังชื่อว่า "วังบูรพาภิรมย์"
สมเด็จวังบูรพา
ในบันทึกจากหนังสือชีวิวัฒน์เที่ยวที่ต่าง ๆ ภาค 7 บทที่เกี่ยวข้องกับสงขลา เล่าว่า คนไทยทำสวน ทำปลา ทำกุ้งแห้ง ทำนาไร่ บ้างเล็กน้อยและขายของ จีนทำสวน ทำปลา ทำกุ้ง ทำหม้อ ทำไห ทำอิฐ และตั้งค้าขายรับส่งสินค้าและขายของ คนแขกทำปลา ทอผ้า ค้าขายบ้างเล็กน้อย
แม้จะมีการแบ่งแยกชนชาติ แต่สังเกตว่าอาชีพของชาวสงขลาในอดีตไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ทุกคนมีโอกาสทำมาหากินเท่าเทียมกัน แต่สิ่งสำคัญคือผู้ใดขยันและตั้งกิจการได้เร็วกว่าเท่านั้นเอง
สมเด็จวังบูรพา ยังมีโอกาสเดินสำรวจตลาดสดในสงขลา และบันทึกไว้ว่า ตำบลท้องตลาดของที่ขายมีผ้าม่วง ผ้าพื้น ผ้าขาวม้า ไหม ด้าย ผ้าโสร่งไหม ผ้าเช็ดหน้าไหม ป้าห่ม ผ้าโพก และบันทึกไว้ว่าเครื่องใช้สอยนุ่งห่มต่าง ๆ มาจากกรุงเทพฯ และ เมืองแขกรวมทั้งประเทศราชต่าง ๆ สอดคล้องกับบริบทของเมืองสงขลาซึ่งมีความเจริญ ผู้คนล้วนมีฐานะ