"ตม.เพชรบูรณ์ เพิ่มทักษะการทำ CPR และการกระตุกหัวใจ !!
ภายใต้อำนวยการของพล.ต.ต.ชำนาญ ชำนาญเวช ผบก.ตม.5 และ พ.ต.อ. ชาญชัย เชาวน์เกษม รอง ผบก.ตม.5(4)
เมื่อเวลา 16.30 น.วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 พ.ต.ท.ณวิภาส เทศแย้ม สว.ตม.จว.เพชรบูรณ์ ได้จัดให้มีโครงการอบรมเพิ่มความรู้และทักษะให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ในการทำ CPR ผู้ประสบเหตุ และการใช้งานเครื่องกระตุกหัวใจ AED อย่างถูกวิธี โดยวิทยากรจากโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และเจ้าหน้าที่จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(1669) ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์
การทำ CPR คือการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจและมีการไหลเวียนออกซิเจนรวมทั้งเลือดกลับคืนสู่สภาพเดิม พร้อมทั้งป้องกันเนื้อเยื่อไม่ให้ได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนอย่างถาวร โดยเราสามารถทำการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานให้ผู้ประสบเหตุได้โดยการกดหน้าอกและช่วยหายใจ ทั้งนี้ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต ซึ่งอาจเกิดได้จากการประสบอุบัติเหตุ, การเป็นโรคหัวใจ, ออกกำลังกายมากเกินไป, ตกใจหรือเสียใจกะทันหัน, จากการสูญเสียเลือดมาก, เลือดมาเลี้ยงหัวใจไม่ทัน, ทางเดินหายใจอุดกั้น รวมทั้งอาจเกิดจากการได้รับยาเกินขนาดหรือแพ้ยา
นอกจากนี้ยังมีการสาธิตแนะนำ พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติการใช้เครื่อง AED(Automated External Defibrillator) เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งประชาชนทั่วไปที่ได้รับการฝึกฝนการใช้ก็สามารถใช้เครื่องนี้ได้ ภายใต้คำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินผ่านสายด่วน1669 โดยเมื่อมีการเปิดการใช้งานของเครื่อง AED เครื่องก็จะสามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้องได้
พ.ต.ท.ณวิภาส เทศแย้ม สว.ตม.จว. เพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายและการสั่งการของ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ที่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศมีความพร้อมในทุกด้านในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั้งคนไทย และคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย เนื่องจากอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และหากผู้ป่วยมีอาการในสถานที่ที่ไม่ใช่บ้านหรือโรงพยาบาล การช่วยเหลืออาจเกิดขึ้นไม่ได้ทันท่วงที ดังนั้นในที่สาธารณะ เช่น ตามสถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานที่ราชการ และแหล่งท่องเที่ยว จึงมีการติดตั้งเครื่อง AED มากขึ้น เพราะเป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้ปฐมพยาบาลช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ที่ช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการใช้งาน AED มาก่อน เพราะคนทั่วไปก็สามารถใช้งานได้ง่าย เพียงทำตามคำแนะนำของเครื่อง AED ซึ่งสามารถประเมินสถานการณ์ของผู้ป่วยได้อัตโนมัติและช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจได้อย่างทันท่วงที เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเป็นหน่วยงานที่ต้องพบปะกับผู้คนจำนวนมากซึ่งอาจพบเจอเหตุการณ์ดังกล่าวได้ รวมถึงข้าราชการและประชาชนทั่วไปจึงควรมีความรู้และทักษะในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างทันเวลา ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยมากขึ้นก่อนถึงมือแพทย์นั่นเอง!!
ขอขอบคุณ พ.ต.อ.ภัคพงศ์ สายอุบลรอง ผบก.อก.ปรก.รอง ผบก.ตม.1 สตม.เอื้อเฟื้อข้อมูลข่าวสาร!!