สธ.เขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์รณรงค์ 1.7 ล้านครัวเรือน 4 จว.อีสานล่าง “ติดหูที่หัวใจ ” ป้องกันป่วยใจ!
ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตนครชัยบุรินทร์ คาดประชาชนใน 4 จังหวัดอีสานตอนล่างมีปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ระดับน้อยจนถึงขั้นป่วยประมาณ 7 แสนคน และอยู่ในระดับรุนแรงพยายามฆ่าตัวตายในปี 2562 จำนวน 2,407 คน เร่งป้องกันการป่วย โดยรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนที่มี1.7 ล้านกว่าครัวเรือนติดหูที่หัวใจ หันหน้าเปิดใจรับฟังทุกข์ของสมาชิกเพียงแค่วันละ 10 นาที จะช่วยคลายทุกข์จากหนักเป็นเบาได้ ด้านจิตแพทย์เผยทักษะการรับฟังที่ดีที่สุดต้องใช้ 3 เทคนิคคือฟังทั้งหู ตา และใจพร้อมๆกัน
บ่ายวันนี้ ( 5 พ.ย. 2562 ) ที่ลานชั้น1 ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ประจำเขตสุขภาพที่9 หรือเขตนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วยเครือข่าย 4 จังหวัดอีสานตอนล่างได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ เปิดนิทรรศการ สุขภาพจิตไทย ...ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติประจำปี 2562 ซึ่งตรงกับวันที่1-7 พ.ย.ทุกปี จัดโดยโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา รพ.มหาราชนครราชสีมา และรพ.เทพรัตน์ เพื่อรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการดูแลสุขภาพจิตแก่ประชาชน ป้องกันการเจ็บป่วยทางจิตเวชและยังมีผลป้องกันการเจ็บป่วยทางกายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยเช่นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น
นายแพทย์พงศ์เกษมกล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่ มักเริ่มต้นมาจากความเครียด ก่อให้เกิดความทุกข์ใจ และเจ็บป่วยทางใจ เช่นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล จิตเภท เป็นต้น ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นให้ประชาชนหันมาใส่ใจรับฟังกันมากขึ้น การฟังจะเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้เราเข้าใจกันและให้การดูแลช่วยเหลือกันในเบื้องต้น โดยเริ่มต้นที่ครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยสังคมที่เล็กแต่สำคัญที่สุด และขยายผลไปสู่คนรอบข้าง ที่ทำงาน ชุมชนและสังคมในที่สุด ทั้งนี้ผลสำรวจระดับชาติของกรมสุขภาพจิตครั้งล่าสุดในปี 2556 ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป มีอัตราป่วยโรคทางจิตเวชหรือมีความผิดปกติของพฤติกรรมเสพติดสารใดๆในรอบ 12 เดือนของปีที่สำรวจร้อยละ 13.4 คาดว่าใน 4 จังหวัดอีสานตอนล่างซึ่งมีประชากร 6.7 ล้านกว่าคน จะมีผู้ที่มีปัญหาทางจิตตั้งแต่ระดับน้อยจนถึงขั้นป่วยประมาณ 7 แสนคน โดยในปีงบประมาณ 2562 เข้ารับการตรวจรักษา 3 แสนกว่าคน และมีรายงานผู้พยายามฆ่าตัวตายซึ่งแสดงว่ามีปัญหาในระดับรุนแรง 2,407 คน และฆ่าตัวตายสำเร็จ 205 ราย
“ ในปีงบประมาณ 2563 นี้ จึงมีนโยบายเร่งป้องกันปัญหา และลดจำนวนผู้ป่วยทางใจ โดยรณรงค์เผยแพร่ความรู้ครัวเรือนที่มี 1.7 ล้านกว่าครัวเรือน หันหน้ามารับฟังสมาชิกในครัวเรือนที่มีทุกข์ทางใจอย่างจริงจัง โดยการติดหูไว้ที่หัวใจ ห่วงใยกัน เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาได้ระบายความรู้สึกออกมา จะช่วยให้จิตใจดีขึ้น และให้การช่วยเหลือเบื้องต้น โดยใช้เวลาวันละ10 นาทีหรือ ฟังให้ได้ 10 ครั้งของการสนทนา สามารถผ่อนหนักให้เป็นเบา ป้องกันการสูญเสียจากปัญหาสุขภาพจิตทั้งการเจ็บป่วยและการฆ่าตัวตายได้ ส่วนผู้ที่ป่วยและอยู่ในระบบการรักษาแล้ว จะเน้นดูแลอย่างต่อเนื่องไม่ให้ขาดยา เพื่อป้องกันไม่ให้อาการป่วยกำเริบซ้ำสอง” นายแพทย์พงศ์เกษมกล่าว
นายแพทย์พงศ์เกษมกล่าวต่อว่า ประการสำคัญทุกครอบครัว ควรสร้างความผูกพันและความอบอุ่นโดยยึดหลัก 3 ส. เป็นแนวปฏิบัติคือ 1. มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ไม่ห่างเหินหรือใกล้ชิดคนในครอบครัวจนเกินไป 2. ใส่ใจซึ่งกันและกัน มีเวลาให้ครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยกันดูแลเมื่อมีปัญหา และ3.สื่อสารที่ดีต่อกัน โดยพูดคุยบอกเล่าความรู้สึกในใจด้วยภาษาท่าทางที่เป็นมิตร เช่นสบตา ยิ้ม โอบกอด จับมือ จะช่วยให้คนในครอบครัวมีพลังใจที่เข้มแข็ง สามารถรับมือกับปัญหาที่มากระทบในชีวิตประจำวันได้
ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า ทักษะการรับฟังที่ดีควรยึดเทคนิค 3 ฟังไปพร้อมๆกัน คือ 1.ฟังด้วยหู คือฟังเรื่องราว เนื้อหาและสาเหตุ 2. ฟังด้วยตา คือฟังสีหน้า ท่าทีและกริยาของผู้พูด และ3.ฟังด้วยใจ คือฟังอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการลึกๆในใจของผู้พูด โดยไม่พูดแทรก ไม่แสดงความเห็น ไม่สั่งสอนใดๆ ไม่ตัดสินใดๆว่าถูกหรือผิด ไม่มองว่าเป็นเรื่องขำขันหรือไร้สาระ เพราะจะยิ่งเพิ่มความเครียดขึ้นไปอีก โดยหลังจากจบจากการรับฟังแล้ว จะต้องไม่เก็บความทุกข์ของผู้พูดไว้กับตัวเอง
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมในวันสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติวันนี้ นอกจากการเสวนาบนเวทีในประเด็น talk ฟังกันวันละ10 โดยพ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุนหรือหมอภาคย์ถ้ำหลวง และคุณกมลชนก โสนุช มิสแกรนด์นครราชสีมา 2019 การให้บริการตรวจวัดความสุข ความเครียด ความเศร้าและให้คำปรึกษาฟรี เสี่ยงทายเซียมซีความสุข และนิทรรศการความรู้ด้านสุขภาพจิตแล้ว ปีนี้ได้เพิ่มการประกวดการหัวเราะ 4 วัยด้วย คือประถมศึกษา มัธยมศึกษา วัยรุ่น และสูงอายุ ซึ่งเป็นวิธีพิชิตความเครียดที่ได้ผลดี ทำให้อารมณ์ดี ผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล1,000,700และ500บาทด้วย