สสส.จับมือ ภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเตือนสติ ฮาโลวีน หยุดผีซิ่ง ดื่ม-แล้วขับ
สสส.จับมือ ภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเตือนสติ ฮาโลวีน หยุดผีซิ่ง ดื่ม-แล้วขับ สลดคนไทยยืนหนึ่งแชมป์อาเซียนสังเวยอุบัติเหตุบนท้องถนน วัยโจ๋เสี่ยงสุด ชวนสร้างวัฒนธรรมงานเลี้ยงใหม่ สนุกได้ไร้แอลกอฮอล์ ด้านพ่อผู้สูญเสียวอนเพิ่มโทษโชว์เฟอร์ดื่มขับ
วันที่ 31 ตุลาคม 2562 ที่ลานกิจกรรมเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กทม. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายเยาวชนพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์รับวันฮาโลวีน ภายใต้แนวคิด Halloween 2019 NO AL Party #หยุดผีซิ่ง ภายในงานมีกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนตลอดทั้งวัน อาทิ แต่งกายเป็นผี กิจกรรมหยุดผีซิ่ง บูธรณรงค์ ส่วนช่วงเย็นมีเวทีการแสดงจากเครือข่ายเยาวชน อาทิ น้องมิกซ์ เดอะแรปเปอร์ ซิน เดอะวอยซ์ แดเนียล ไมค์ทองคำ วง PENTATONIC และ DS.RU Band
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส.กล่าวว่า การเฉลิมฉลองฮาโลวีนมักมาพร้อมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำไปสู่พฤติกรรมการดื่มแล้วขับ ขับเร็วขับซิ่ง เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยกระทรวงคมนาคมเคยศึกษาถึงมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน คนเสียชีวิตคนนึง ณ ปัจจุบัน มีมูลค่าความสูญเสียอาจจะอยู่ที่ 7-8 ล้านบาท ส่วนคนพิการขยับไปอยู่ที่ 9-10 ล้านบาท นอกจากนี้ บรรดาธุรกิจร้านเหล้าผับบาร์ใช้โอกาสนี้เรียกลูกค้า สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้งขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ ส่งเสริมการขายลดแลก แจกแถม ขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด ความน่าเป็นห่วงของคืนฮาโลวีนจึงหนีไม่พ้นปัญหาเหล่านี้ เป็นเงามืดที่ติดตามมากับความสนุกสนานของเทศกาล
น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวว่า กิจกรรมนี้เกิดขึ้นเพื่อแสดงทางเลือกงานปาร์ตี้ปลอดเหล้า อย่างเช่นงานคอนเสิร์ตของกลุ่มโคตรอินดี้ จ.สระบุรี มีคนเข้าร่วมนับหมื่น แต่ไม่เกิดปัญหาทะเลาะวิวาทหรือพฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นงานที่ยืนยันได้ว่าเราสามารถสนุกได้โดยไร้แอลกอฮอล์จริงๆ รวมไปถึงสถานประกอบการต้นแบบที่ทำสำเร็จมาแล้วอย่าง บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) สาขาลพบุรี ที่กำหนดให้ทุกกิจกรรมและงานเลี้ยงสังสรรค์ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 24,000 คน สำหรับปัจจัยร่วมหลักยังคงเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนปัญหาขับเร็วก็นำมาซึ่งความสูญเสียไม่แพ้กัน ด้วยความรุนแรงหรือแรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นสามารถเทียบเคียงได้จาก การชนที่ระดับความเร็ว 80 กม/ชม. รุนแรงเท่ากับการตกตึก 8 ชั้น,120 กม./ชม. รุนแรงเท่ากับคนตกตึก 19 ชั้น และแน่นอนว่าในคืนฮาโลวีนที่มีการกินดื่ม จำนวนคนดื่มแล้วขับย่อมเพิ่มขึ้น ความไม่ปลอดภัยบนท้องถนนจะยิ่งมากขึ้นจากสถานการณ์ปกติ กิจกรรม“หยุดผีซิ่ง” จึงต้องการกระตุ้นเตือนให้ผู้ขับขี่ ไม่ดื่ม และใช้ความระมัดระวังในการขับขี่มากขึ้น” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
นายพรหมมินทร์ กันธิยะ ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุอยู่ในขั้นวิกฤตรุนแรง อัตราเฉลี่ยเสียชีวิต 50-70 ราย/วัน ประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน สาเหตุดื่มแล้วขับอยู่ในอันดับต้นๆ หากวิเคราะห์การใช้รถใช้ถนนในเมืองไทย พบว่ามีองค์ประกอบไม่สมดุล รถ คน ถนน สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะตัวคน คนอายุน้อยสามารถขับขี่ได้ ส่วนคนที่กระทำผิดซ้ำๆ ยังไม่มีวิธีการคัดออก รถถูกนำมาดัดแปลง ต่อเติม โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นมักใช้ยานพาหนะเกินความจำเป็น บวกกับพฤติกรรมดื่ม ขับเร็ว สิ่งที่อยากแนะนำผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนคือการประเมินวิเคราะห์ความเสี่ยงไปตลอดเส้นทาง หรือมีสติเท่านั้น" นายพรหมมินทร์ กล่าว
ด้าน นายนิพนธ์ ทับนิล บิดาผู้สูญเสียลูกสาว กล่าวว่า ครอบครัวเจ็บปวดกับความสูญเสียลูกสาวเพราะคนเมาแล้วขับเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา (รถเก๋ง BMW พุ่งข้ามเกาะกลางมาชนนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเสียชีวิตคาที่ 2 ราย) ล่าสุดครอบครัวรู้สึกว่ายังไม่ได้รับความยุติธรรม ผู้กระทำผิดยังไม่ได้รับโทษ ทั้งที่เป็นเหตุทำให้คนเสียชีวิต หากรับสารภาพอาจจะได้รับการลดโทษลงอีก ตนในฐานะพ่อที่สูญเสียมองว่านี่ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ดื่มแล้วขับมีอันตรายเป็นเรื่องที่ทุกคนทราบ จึงเป็นเจตนาที่เล็งเห็นผลได้ ตนจึงอยากวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาบทลงโทษนี้ใหม่อีกครั้ง เพื่อความยุติธรรมต่อผู้เสียหาย