เมื่อเทคโนโลยีช่วยลดปัญหาผลกระทบระหว่างช้างป่าและชาวบ้าน
โครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า โดยนำศักยภาพเทคโนโลยี IoT มาช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ( Smart Early Warnig System )
ปัญหา "ช้างป่า" บุกรุกเข้าพื้นที่หมู่บ้านทำลายข้าวของ ทำลายพื้นที่ทำเกษตรกรรมของชาวบ้านพังยับเยิน จนทำให้พืชผลทางการเกษตรหลายชนิดต้องเสียหายจากช้างป่าที่เข้ามากินพืชผลมาโดยตลอด จนทำให้ชาวบ้านกลัวที่อาจจะถูกช้างทำร้าย
การกระทบกระทั่งระหว่างคนที่อยู่รอบพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ กับสัตว์ป่าที่หิวโหยออกจากป่ามาหากินในชุมชน มักจะเป็นข่าวกรอบเล็กๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ส่วนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่กลับเป็นเรื่องเคยชินไปเสียแล้ว !!!
จนเมื่อหลายปีก่อน ปัญหาการปรากฎตัวของสัตว์ป่าในชุมชนก็เริ่มมีให้เห็นบนหน้าสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้นๆ เรื่อยๆ จนทำให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ ได้นำร่องนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาใช้งาน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ลดการสูญเสียชีวิตของชุมชนกับช้างป่า และความเสียหายของพื้นที่เกษตรกรรม พร้อมเปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า นำร่องอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่แรกของประเทศ
ด้วยการนำศักยภาพของเทคโนโลยี IoT ของทรูผสานกับการบริหารจัดการของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และ WWF ประเทศไทย ซึ่งนำร่องติดตั้งระบบตั้งแต่เดือนพ.ย.2561 -ส.ค.2562 พบว่า กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติสามารถบันทึกภาพช้างออกจากป่า 518 ครั้ง มีความเสียหาย เพียง 2 ครั้ง เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน มีช้างออก 623 ครั้ง แต่มีความเสียหาย มากกว่า 312 ครั้ง
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า “ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างอย่างน่าพอใจ เป็น “กุยบุรีโมเดล”ที่สามารถนำไปขยายผลปรับใช้ในพื้นที่เขตอุทยานฯ อื่นๆ ที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันได้ทั่วประเทศ “
อ้างอิงจาก: Youtube : CSR True (https://youtu.be/l2G1ilmXLDA) และ รูปภาพจาก "2 ช้างป่าบุกทำลายข้าวของพืชไร่ไม่สนใจชาวบ้าน" (https://www.posttoday.com/social/local/592226)