แห่กราบไหว้ !! พระพุทธรูปปางตะเบ๊ะ วัดสนามเหนือ มีแค่ 3 องค์ในประเทศไทย
#พระพุทธรูปปางตะเบ๊ะ
#วัดสนามเหนือ
มีแค่ 3 องค์ในประเทศไทย
ที่วัดสนามเหนือ หมู่ 3 ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ทางวัดได้ #อัญเชิญพระพุทธรูปปางเกศธาตุ หรือ ที่ชาวบ้านเรียกขานกันง่ายๆว่า #ปางตะเบ๊ะ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่แตกต่างจากปางทั่วๆ ไป ซึ่งทางวัดได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 อายุกว่า 400 ปี ออกจากวิหารเก่าเพื่อนำมาเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้ามากราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลและมีโอกาสหาชมได้น้อยมาก
ผู้สื่อข่าวพบว่าที่วัดสนามเหนือแห่งนี้เป็นวัดที่ประชาชนทั่วไปนิยมนำรถมาจอดก่อนขึ้นเรือข้ามฟากไปยังเกาะเกร็ด โดยได้พบกับพระอภิเชษฐ์ พระเลขานุการเจ้าอาวาสวัดสนามเหนือ เปิดเผยว่า วัดสนามเหนือแห่งนี้เป็นวัดที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาทางวัดได้อัญเชิญพระพุทธรูปปางพระเกศธาตุหรือที่ชาวบ้านทั่วไปมักชอบเรียกว่า ปางตะเบ๊ะ ตามลักษณะของพระพุทธรูป ซึ่งเป็นเนื้อทองผสมสัมฤทธิ์ออกมาจากวิหารเก่าหลังที่ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 อายุกว่า 400 ปี อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถหลังใหม่เพื่อให้พุทธศาสนิกชนประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสกราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล และยังได้ชมพระพุทธรูปปางพิเศษที่หาชมได้ยากและไม่ค่อยมีใครได้พบเห็นได้ง่าย ๆ อีกด้วย
พระอภิเชษฐ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พระพุทธรูปปางเกศธาตุองค์นี้ได้ถูกคนร้ายเข้ามาโจรกรรมไปจากวัดแล้วหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ได้กลับคืนมาสู่วัดมาโดยเสมอ โดยไม่รู้เหตุผลที่คนร้ายนำมาคืนไว้ ทำให้ทางวัดจึงตัดสินใจอัญเชิญจากวิหารเก่ามาประดิษฐานที่โบสถ์หลังใหม่เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสมากราบไหว้ดีกว่านำไปเก็บซุกซ่อนไว้ เนื่องจากภายในโบสถ์หลังใหม่ทางวัดได้ทำการติดกล้องวงจรปิดและมีพระสงฆ์ลงทำวัตรเช้าเย็น จึงน่าจะเป็นการที่ปลอดภัยกว่าไว้ในวิหารเดิม ที่ไม่ค่อยมีผู้คนพบเห็น และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ากราบสักการะอย่างใกล้ชิดน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า ทางวัดเลยตัดสินใจนำมาประดิษฐานยังอุโบสถหลังใหม่
พระอภิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับพระพุทธรูปปางเกศธาตุนั้นเท่าที่สืบทราบประวัติมาพบว่า ในประเทศไทยมีเพียง 3 องค์เท่านั้นที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 3 คือ วัดแรกคือวัดบวรนิเวศน์ วัดที่สองเป็นวัดพระปฐมเจดีย์ และวัดที่สามก็คือวัดสนามเหนือแห่งนี้ โดยสันนิฐานว่าพระพุทธรูปปางดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งต่อมาน่าจะมีผู้นำไปถวายให้กับรัชกาลที่ 3 จนกระทั่งต่อมารัชกาลที่ 3 จึงได้พระราชทานให้กับวัดทั้ง 3 แห่งต่ออีกที
สำหรับประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปปางดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ซึ่งมีพ่อค้า 2 คนซึ่งเป็นชาวมอญมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงปวารณาตนรับใช้พระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพ่อค้าทั้ง 2 คนจะเดินทางกลับประเทศ ได้เข้าไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า อยากได้ของที่ระลึกอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้ากลับไปยังประเทศเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา แต่พระพุทธเจ้าไม่มีอะไรจะมอบให้พ่อค้าทั้ง 2 คน พระพุทธเจ้าจึงได้ใช้พระหัตถ์ขวาลูบพระเกศา และได้พระเกศามาแปดเส้น จึงประทานให้กับพ่อค้าทั้ง 2 คนไป จากนั้นพ่อค้าทั้ง 2 คน จึงนำพระเกศาของพระพุทธเจ้ากลับไปประดิษฐานที่ประเทศพม่าโดยได้สร้างพระเจดีย์ครอบไว้มาจนถึงปัจจุบันหรือที่เรียกว่าพระธาตุเชวงดากอง ในปัจจุบัน
สำหรับพระพุทธรูปปางเกศธาตุปางนี้ มีความเชื่อกันว่า #ประชาชนที่ประกอบสัมมาชีพทำมาค้าขายเมื่อมาขอพรแล้วจะประสบความสำเร็จเนื่องจากเป็นปางพระพุทธรูปที่เกิดขึ้นจากกลุ่มพ่อค้าในสมัยพุทธกาล หรือแม้แต่ #การขอพรให้เจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน ก็มีผู้คนมาขอพรประสบความสำเร็จไปแล้วมากมายหลายรายด้วยกัน ซึ่งหากต้องการขอพรในเรื่องใดให้ทำการ #สักการะด้วยแผ่นทองคำเปลวปิดองค์ จากนั้น #แตะเศษทองเปลวมาแตะที่หน้าผากแล้วอธิษฐานขอพร เท่านั้น #ห้ามบนบานสานกล่าว
พระอภิเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประชาชนทั่วไปไม่ค่อยรู้ว่าที่วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่หาชมได้ยากอยู่ในวัดแห่ง จึงแค่นำรถมาจอดที่วัดแห่งนี้แล้วเดินไปขึ้นเรือเพื่อข้ามไปแต่เกาะเกร็ดเท่านั้น ซึ่งทางวัดเองก็อยากให้ทางจังหวัดเข้ามาให้การสนับสนุน ปรับปรุงภูมิทัศน์ของวัดแห่งนี้ให้สวยงามเหมือนโบราณสถานของวัดอื่น เพื่อให้ผู้คนที่สนใจเดินทางมาที่วัดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวของทางจังหวัดได้อีกที
รวมทั้งวิธีการป้องกันไม่ให้พระพุทธรูปถูกโจรกรรมจากคนร้ายได้อีก เพราะในปัจจุบันนี้นอกจากที่วัดสนามเหนือเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ที่เปิดให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามากราบสักการะอย่างใกล้ชิด ส่วนอีก 2 วัดที่เหลือยังไม่ได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าสักการะอย่างใกล้ชิด ซึ่งทางวัดสนามเหนือจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ากราบสักการะได้ทุกวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขฤกษ์เท่านั้น โดยเริ่มเปิดโบสถ์ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ทั้งนี้เพื่อจะได้มีโอกาสอธิบายประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปองค์นี้ปางนี้ให้ประชาชนได้เข้าความหมายที่แท้จริง
แหล่งที่มา: https://www.facebook.com/trawennews2/posts/2300714886711876?__tn__=K-R