7 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความฝันในทางจิตวิทยา
ไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการฝัน ความฝันเกิดจากอะไร ทำไมคนเราถึงฝัน เราฝันกันทุกวันแต่จำไม่ได้จริงหรือ
เชื่อว่าทุกคนเคยนอนหลับแล้วฝัน หลายคนอยากรู้ว่าเรื่องที่เราฝันเป็นลางบอกเหตุอะไรหรือเปล่า หรือจริงๆ แล้ว สิ่งที่เราเก็บไปนอนฝันมันหมายถึงอะไรได้บ้าง เพราะความฝันนั้นเป็นเรื่องลึกลับและแปลกประหลาด เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาตร์ยังคงเฝ้าหาคำตอบ มาดูไปพร้อมๆ กันว่า ในเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาจะอธิบายได้อย่างไรว่า แท้จริงแล้วความฝันเกิดจากอะไร
1.ทำไมเราถึงฝัน?
มีทฤษฎีมากมายที่ใช้อธิบายสาเหตุของการฝัน บางทฤษฎีกล่าวว่าความฝันเป็นเพียงผลพลอยได้จากกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมองขณะที่เราหลับเท่านั้น แต่ยังมีนักวิจัยอีกมากที่ศึกษาเกี่ยวกับการนอนหลับและการฝัน มีความเชื่อว่า แท้จริงแล้ว ความฝันนั้นเกิดจากนัยสำคัญบางอย่าง บางทฤษฎีอธิบายเกี่ยวกับความฝันไว้ว่า
เป็นกระบวนการจัดการความทรงจำและการเรียนรู้ เพื่อจัดระเบียบความทรงจำระยะสั้นให้กลายเป็นความทรงจำระยะยาว เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้สมองได้เตรียมพร้อมสำหรับการเรียนรู้และความทรงจำใหม่ในวันถัดไป และเพื่อรักษาสมดุลทางอารมณ์ ด้วยการก้าวผ่านความนึกคิดที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และไม่มั่นคงด้านอารมณ์และประสบการณ์ในชีวิต
เป็นการฝึกซ้อมของสมอง เพื่อพร้อมเผชิญหน้ากับความหวาดกลัว อันตราย และความท้าทายที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นการตอบสนองทางสมองต่อชีวเคมีและสื่อไฟฟ้า นำกระแสประสาทที่เกิดระหว่างการนอนหลับ เหตุผลของการฝันไม่อาจอธิบายได้ในคำตอบเดียว เพราะความฝันของเราอาจเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความปรารถนาที่หลากหลายในคราวเดียว
2.ความฝันคืออะไร? เราฝันกันทุกคนจริงไหม?
ความฝันคือการสะสมของมโนภาพ ความประทับใจ เหตุการณ์ต่างๆ และอารมณ์ที่เรารู้สึกขณะหลับ บางครั้งความฝันก็มีพื้นฐานมาจากเรื่องราวในชีวิตจริง แต่หลายครั้งความฝันก็ออกมาในรูปแบบนามธรรมที่เต็มไปด้วยอารมณ์และภาพในจินตนาการ
โดยปรกติ ในแต่ละคืนคนเราจะใช้เวลาในการฝัน 3-6 เรื่อง นานถึง 2 ชั่วโมงหรืออาจมากกว่านั้น ระยะเวลาของความฝันแต่ละเรื่องอยู่ที่ 5- 20 นาที ความจริงแล้วเราทุกคนฝัน เพราะความฝันถือเป็นประสบการณ์ที่ทุกคนในโลกต้องเจอ คนส่วนใหญ่จะจำความฝันของตัวเองไม่ได้ มักจะลืมเรื่องที่ฝันไปอย่างรวดเร็วเมื่อลืมตาตื่น
3.ทำไมเราจึงจำเรื่องที่ฝันไม่ได้?
การจำความฝันได้ของเราอาจถูกกำหนดโดยรูปแบบความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างบุคคล การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกายช่วงกลางคืนก็อาจมีผลต่อการจดจำความฝันได้เช่นกัน ช่วงหลับลึก (Rapid eye movement -REM Sleep) ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะสูงขี้น และอาจเกิดจากการแทรกแซงการสื่อสารระหว่างพื้นที่สมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมความทรงจำก็ได้
การฝันเป็นเรื่องเป็นราวของเราจะเกิดขึ้นเมื่อการนอนเข้าสู่ระดับหลับลึก (REM-Sleep) ระยะหลับลึกที่ยาวนานจะอยู่ในช่วงกลางดึกและเช้ามืด
วงจรการนอนหลับแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ความฝันอาจเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ช่วงเวลา แต่ความฝันที่เกิดในช่วงหลับหลึกมักเห็นเป็นภาพที่เกิดขึ้นเร็ว แปลกประหลาด และเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าความฝันที่เกิดในช่วงเวลาอื่นๆ
4.ความฝันมีกี่แบบ?
ความฝันเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปของมนุษย์ อาจเกิดจากการผสมผสานของอารมณ์และเหตุกาณ์ต่างๆ หรือบางครั้งก็ฝันเรื่องที่ประหลาดสุดๆ บางความฝันอาจสร้างความพึงพอใจ บางฝันสนุก บางฝันก็ทำให้เครียดได้ ความฝันแบ่งได้หลายประเภท
ความฝันที่เกิดจากความวิตกกังวล (Recurring Dream) ความฝันประเภทนี้เชื่อมโยงกับความกังวลในจิตใจ เกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ จึงมักฝันถึงเรื่องราวที่น่ากลัวหรือเรื่องที่ทำให้กระวนกระวายใจมากกว่าความฝันทั่วไป
ฝันเปียก (Wet Dream) หรือการหลั่งน้ำกามขณะฝัน โดยปรกติจะเป็นความฝันเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ เกิดกับเด็กผู้ชายในวัยแตกหนุ่มช่วงที่เทสโทสเตอโรนกำลังพลุ่งพล่าน และเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการปรกติของร่างกายที่มีสุขภาพดี
ความฝันที่ควบคุมได้ (Lucid Dream) เป็นความฝันที่น่าสนใจเพราะคนที่ฝันจะรู้ตัวว่ากำลังฝันอยู่ หรือทำได้แม้กระทั่งควบคุมและบังคับรูปแบบความฝันของตัวเองได้ มีความสัมพันธ์กับระดับการทำงานที่เพิ่มขึ้นในสมอง เพราะคนที่สามารถฝันแบบนี้ได้ คลื่นสมองจะมีความถี่สูงกว่าคนทั่วไปที่ไม่เคยฝันในแบบนี้
และยังแสดงให้เห็นว่าสมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่ควบคุมการตระหนักรู้ การรู้สำนึกของตัวตน รวมไปถึงความสามารถทางทักษะด้านภาษาและความทรงจำ ยังทำงานมากขึ้นตามไปด้วย
5.ความฝันที่พบมากที่สุดคืออะไร?
ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับความฝันเกิดจากการรวบรวมรายงานต่างๆ และการทำแบบสอบถาม ทำให้พบว่ามีบางเรื่องที่คนต่างวัยและต่างวัฒนธรรมฝันถึงเหมือนๆ กัน นั่นก็คือความฝันเกี่ยวกับการเรียน (หน้าที่การงาน หรือภารกิจที่ได้รับมอบหมาย), ถูกไล่ล่า , ความฝันเรื่องเพศ, ตกจากที่สูง, ไปทำงานหรือไปเรียนสาย, บินได้, ถูกทำร้ายร่างกาย และฝันถึงคนที่ตายไปแล้ว หรือฝันว่าคนรู้จักตาย
6.ความฝันที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นได้มากแค่ไหน?
การใช้ชีวิตของเราส่งผลถึงความฝันอย่างใหญ่หลวง ผู้คนที่อยู่ในความฝันส่วนมากจะเป็นคนที่เรารู้จัก มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า ผู้ฝันรู้จักชื่อของคนที่ปรากฏในความฝันถึงร้อยละ 48 อีกร้อยละ 35 คือคนที่มีความคุ้นเคยหรือมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ฝัน เช่น เพื่อน ส่วนที่เหลือน้อยกว่าร้อยละ 16 คือคนแปลกหน้า
เรื่องราวความฝันส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ในชีวิตเราเอง เช่น แม่ท้องมักจะฝันเรื่องเกี่ยวกับการตั้งท้องและการคลอดลูก คนดูแลเด็กและคนแก่มักจะฝันถึงเรื่องคนที่เคยอยู่ในความดูแล นักดนตรีจะฝันถึงเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า
งานวิจัยยังพบว่า ในความฝันเราจะมีความสามารถทางร่างกายมากขึ้นกว่าในชีวิตจริงได้ด้วย รายงานการวิจัยพบว่าคนเป็นอัมพาตตั้งแต่กำเนิดสามารถเดิน ว่ายน้ำ และวิ่งได้ในความฝันของตัวเอง คนหูหนวกก็ได้ยินเสียงต่างๆ
อีกความเป็นไปได้ที่ทำให้คนเราฝัน นั่นก็คือความต้องการดิ้นรนรับมือกับเรื่องที่่สร้างความบอบช้ำทางจิตใจ ความเศร้าโศก ความหวาดกลัว ความสูญเสีย การถูกทอดทิ้งหรือแม้กระทั่งสภาพความเจ็บป่วยทางร่างกาย เป็นเรื่องราวทางอารมณ์และมักจะฝันถึงซ้ำๆ คนที่สูญเสียญาติร้อยละ 60 บอกว่า ความฝันมีอิทธิผลต่อการพยายามทำใจให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศกได้มากทีเดียว
7.ความฝันช่วยส่งเสริมศักยภาพในตัวเราเองได้จริงหรือ?
ความฝันอาจช่วยให้พบวิธีแก้ปัญหาและเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ด้วย นักร้องและนักแต่งเพลงผู้โด่งดังอย่างพอล แม็คคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) กล่าวว่าแต่งเพลง “Yesterday” จากความฝัน ยังมีศิลปินคนอื่น เช่น นักประพันธ์บทกลอนอย่างวิลเลียม เบลค (William Blake) ไปจนถึงผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง อิงมาร์ เบิร์กแมน (Ingmar Bergman) ก็กล่าวว่าความฝันเป็นตัวสร้างสรรค์แรงบันดาลใจและเป็นเครื่องชี้นำ นักกอล์ฟระดับโลกอย่างแจ็ค นิคลอส (Jack Nicklaus) ก็บอกว่าเขาพบวิธีแก้ปัญหาวงสวิงที่หาทางแก้ไม่เคยได้จากความฝัน
ความฝันอาจช่วยให้พบทางออกของปัญหาบางอย่าง ผู้ที่ควบคุมความฝันได้อาจใช้ความฝันที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ จากข้อมูลทางการวิจัย ดูเหมือนว่าความฝันอาจมีอิทธิผลในการขยายขอบเขตของจินตนาการและความคิด และช่วยปรับปรุงสภาพจิตใจยามปรกติของเราได้