กว่าจะเป็นเฉาก๊วยในวันนี้
วันนี้เรย์ด้ามีเรื่องราวของเมนูคลายร้อน ที่หลาย ๆ คนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีถึงรสชาติและแก้อาการดับร้อนดับกระหาย แต่หลายคนคงไม่ทราบความเป็นมาของ สิ่งนี้ นั่นก็คือ เฉาก๊วยนั่นเอง
เฉาก๊วยเบตง หรือวุ้นดำของอำเภอเบตง เป็นขนมขึ้นชื่อของอำเภอเบตง ซึ่งทำจากหญ้าชนิดหนึ่ง ที่มีปลูกในประเทศจีน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งอพยพมาจากประเทศจีน ประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว และถ่ายทอดให้ลูกหลานได้ทำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เป็นอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอเบตงอีกชนิดหนึ่งด้วย โดยนำมาต้มกับส่วนผสมแล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ เพื่อแยกหญ้าวุ้นดำออกจากน้ำ ซึ่งกลายเป็นสีดำ จากนั้นนำแป้งมันสำปะหลังผสมกับน้ำที่ได้จากการกรองในขณะที่ยังร้อน แล้วคนให้เข้ากัน ทิ้งไว้จนกว่าจะกลายเป็นวุ้น นิยมรับประทานกับน้ำเชื่อมแล้วเติมน้ำแข็ง มีสรรพคุณในการแก้ร้อนในได้อีกด้วย
เฉาก๊วยเบตงเจ้านี้ มีการถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น สร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนอีกด้วย โดยสูตรในการทำเฉาก๊วยแบบดั้งเดิมนั้น ไม่ได้มีวัตถุดิบอะไรให้ยุ่งยาก ดังนี้
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1. หญ้าเฉาก๊วย 2. แป้งมันสำปะหลัง 3. น้ำสะอาด
ขั้นตอนการผลิต
1. นำหญ้ามาคัดเลือกเอาเศษขยะทิ้ง นำมาล้างให้สะอาด
2. นำหญ้าที่ล้างสะอาดแล้วมาต้มประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง
3. นำหญ้าที่ต้มแล้วกรองกับผ้าขาวบาง เอาส่วนหัว (กรองครั้งแรก) ใส่ในกระทะ และนำส่วนหางผสม ต้มให้เดือด ช้อนฟองอากาศออก
4. ละลายแป้งมันสำปะหลังกวนให้เข้ากัน ตักใส่ในภาชนะ
***** เจ้าของกิจการแอบกระซิบเคล็ดลับเด็ดของเฉาก๊วยที่นี่ว่า ต้องใช้ไม้ฟืนในการต้มเท่านั้น ห้ามไม่ใช้เตาแก๊สเด็ดขาด เพื่อให้เฉาก๊วยมีกลิ่นหอมชื่นใจ