กรม สบส.จัดประชุมประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.เซลล์บำบัด 7 หมวด 52 มาตรา มุ่งส่งเสริม พัฒนาบริการให้ถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัด พ.ศ. .... เผยโครงสร้างกฎหมายประกอบด้วย 7 หมวด 52 มาตรา มุ่งส่งเสริม พัฒนามาตรฐานการให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพ ผู้ใดจะให้บริการเกี่ยวกับเซลล์บำบัดจะต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
วันนี้ (8 กรกฎาคม 2562) ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังพิธีเปิดการประชุม “ประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัด พ.ศ. ....” ว่าด้วยปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการบำบัดรักษา ซ่อมเสริมอวัยวะ มีความก้าวหน้า เป็นอย่างมาก โดยประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเซลล์บำบัดบัญญัติไว้โดยเฉพาะทำให้เกิดปัญหาในการควบคุม กำกับ การใช้เซลล์บำบัดในการรักษาโรค ดังนั้น กรม สบส. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แพทยสภา คณะแพทยศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัดทำ “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัด พ.ศ. ....” และจัดการประชุมประชาพิจารณ์ในวันนี้ขึ้น โดยเชิญผู้เกี่ยวข้อง จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสภาวิชาชีพ จำนวน 150 คน มาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฯให้มีความสมบูรณ์พร้อมก่อนนำไปใช้จริง
นายแพทย์ประภาส กล่าวต่อว่า สำหรับโครงสร้างของกฎหมาย “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัด พ.ศ. ....” มีทั้งหมด 7 หมวด 52 มาตรา มีเจตนารมณ์ในการส่งเสริม พัฒนา คุณภาพมาตรฐานการให้บริการเซลล์บำบัดตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยกฎหมายกำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการเซลล์บำบัดซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน อธิบดีกรม สบส.เป็นรองประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบ หรือกำกับดูแลการให้บริการเกี่ยวกับเซลล์บำบัดและผลิตภัณฑ์ของเซลล์เป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งการให้บริการเกี่ยวกับเซลล์บำบัด ทั้ง 4 ประเภท ซึ่งประกอบด้วย 1)การใช้เซลล์บำบัดเพื่อการรักษา 2)ห้องปฏิบัติการเซลล์ 3)ธนาคารเซลล์ และ4)กระบวนการอื่นใดที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ต้องกระทำในสถานพยาบาลโดยมีผู้ประกอบวิชาชีพที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามที่แพทยสภาหรือ ทันตแพทยสภากำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะให้บริการเกี่ยวกับเซลล์บำบัดจะต้องขึ้นทะเบียนต่อนายทะเบียนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและมาตรฐานสถานที่ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดเสียก่อนจึงมีสิทธิให้บริการได้
ทั้งนี้ กรม สบส.จะนำผลการประชุมที่ได้ในวันนี้มาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติว่าด้วยเซลล์บำบัด พ.ศ. .... เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ความเห็นชอบก่อนนำเข้าวาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป