ลดเค็ม ลดโรค
ลิ้นของคนไทย ติดรสเค็มไปแล้ว
ปัจจุบันคนไทยกินเค็มเกิน 2 เท่า (โซเดียมเฉลี่ยที่คนไทยกิน 4,352 มิลลิกรัม/วัน) ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมต่อ 1 วัน ไม่ควรเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือ 600 มิลลิกรัม/มื้อ เทียบเท่ากับ เกลือ 1 ใน 3 ต่อ 1 ช้อนชา น้ำปลา 2 ใน 3 ต่อ 1 ช้อนชา(ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลก)
สสส. เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงออกแบบ “ช้อน ปรุง ลด” เพื่อสร้างกระแสการจดจำให้คนไทยได้รู้ถึงปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมที่ควรทานในแต่ละมื้อ และต้องการให้คนไทยค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมการปรุงลดลงด้วยช้อนชาปกติที่ใช้อยู่ ช้อนดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการผลิตเชิงพาณิชย์ และไม่สามารถหาซื้อได้
เพื่อเตือนสติผู้บริโภคทุกคน วันนี้เรามีเมนูยอดนิยมของคนไทยที่มีปริมาณโซเดียมสูงมาให้ดูกัน
“ซุปก้อนคู่ครัว โซเดียมเกินไม่รู้ตัว”
ใส่ก้อนเดียว น้ำซุปก็อร่อยเข้มข้น แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าในซุปก้อน 1 ก้อนขนาด 10 กรัม มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยสูงถึง 2,600 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับน้ำปลา 7 ช้อนชา (ต่อมื้อร่างกายต้องการน้ำปลาไม่เกิน 1 ช้อน)
ซึ่งถ้าเราปรุงให้คนในบ้านทานเป็นประจำ จึงควรหลีกเลี่ยงการทานน้ำซุป หรือหันมาใส่ใจเลือกการปรุงแบบธรรมชาติ ค่อยๆ ลดปรุงให้น้อยลง ลดความเสี่ยงพฤติกรรมติดเค็มให้กับคนที่คุณรัก เพราะการกินอาหารรสเค็มจัดตั้งแต่เด็ก สามารถส่งผลเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้
“บะหมี่กู้ชีพ โซเดียมเกินลิมิต”
ด้วยรสชาติเข้มข้นและราคาไม่แพงจนทำให้หลายคนติดใจแต่รู้หรือไม่? บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ถ้วยขนาด 60 กรัมมีโซเดียมเฉลี่ยสูงถึง 1,275 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับน้ำปลาถึง 3 ช้อนชา (ต่อมื้อร่างกายต้องการน้ำปลาไม่เกิน 1 ช้อน)
“ลูกอิ่มอร่อยทุกเช้า รับโซเดียมแต่เช้า”
โจ๊กร้อนรองท้องให้ลูกยามเช้า ที่ทั้งสะดวก ทานง่าย เพียงแค่เติมน้ำร้อนแต่แฝงด้วยปริมาณโซเดียมถึงปริมาณโซเดียมจะไม่เกินปริมาณที่แนะนำต่อวัน (2,000 มิลลิกรัม)
แต่! โจ๊กคัพ 1 ถ้วยขนาด 35 กรัม ก็มีโซเดียมแล้วกว่า 1,269 มิลลิกรัม เกินโควต้าโซเดียมที่เด็กควรได้รับในแต่ละวัน (เด็ก 6 – 8 ปี โซเดียมไม่เกิน 950 มิลลิกรัม/วัน , เด็ก 9-12 ปี โซเดียมไม่เกิน 1,175 มิลลิกรัม/วัน)
“ปรุงตามใจ สะเทือนไตก่อนใคร”
อาหารยอดนิยมของคนไทยอย่างข้าวผัดกะเพราหมูสับไข่ดาว ใน 1 จานมีโซเดียมเฉลี่ย 1,200 มิลลิกรัม และยิ่งเจอพฤติกรรมปรุงจนเคยชิน ปรุงแบบไม่ชิม ยิ่งทำให้เกิดการสะสมของปริมาณโซเดียม ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้อง “ชิมก่อนปรุง”
เพราะคนไทยกว่า 22.05 ล้านคนป่วยเป็นโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรม “ติดเค็ม”ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคไตและในแต่ละปีมีคนไทยล้างไตเพิ่มขึ้นถึง 20,000 คน
“Up Size สุดคุ้ม! แต่ไม่คุ้มรักษา”
ขนมขบเคี้ยว 1 ซองขนาด 160 กรัม มีโซเดียมเฉลี่ย 1,050 มิลลิกรัมบางคนเลือกซื้อขนมแบบห่อใหญ่เพื่อความคุ้มค่า แต่โรคที่ตามมามันไม่คุ้มเลย
ดังนั้นจึงควรบริโภคขนมทานเล่นให้น้อยลงเพราะโซเดียมไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หรืออ่านฉลากก่อนซื้อ เลือกทานขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมต่ำและถ้ากินบ่อยๆ เสี่ยงเป็นโรคไต ความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน และโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต
“ปลาเส้นไม่อ้วน แต่ตัวอ่วมด้วยโซเดียม”
ปลาเส้นที่คนรักสุขภาพนิยมเลือกทานเพราะคิดว่ามีแคลลอรี่น้อย ซึ่งมีไขมันต่ำและโปรตีนสูง แต่ปริมาณโซเดียมก็สูงไม่แพ้กันเพราะในปลาเส้น 1 ซองขนาด 34 กรัม มีโซเดียมเฉลี่ย 666 มิลลิกรัม เพียง 1 ซอง ก็เกินโควต้าโซเดียมในแต่ละมื้อไปแล้ว (1 มื้อ ไม่เกิน 600 มิลลิกรัม) และยิ่งรสเข้มข้นก็จะมีปริมาณโซเดียมสูงขึ้นตามอีกด้วย
“คิดว่าสาหร่ายมีประโยชน์ แต่กลับมีโทษเพราะโซเดียม”
สาหร่าย เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ผู้บริโภคคิดว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยปกติจะมีรสเค็มโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เมื่อมาเป็นขนมถุงทานเล่นปริมาณโซเดียมจึงมีมากขึ้น เพราะจากการปรุงรสด้วยซอสหรือผงปรุงต่างๆ ที่ทำให้อร่อย จนติดใจกินวันละหลายซองต่อวัน ซึ่งสามารถส่งผลเสียให้ร่างกายได้
เพราะในสาหร่ายปรุงรส 1 ซองขนาด 30 กรัมมีปริมาณโซเดียมจากผงปรุงรสเฉลี่ย 304 มิลลิกรัม เท่ากับบริโภคเกลือ ⅙ ช้อนชาถึงปริมาณโซเดียมจะดูไม่สูงมากนักแต่ถ้ารับประทานวันละหลายซอง อาจจะได้รับโซเดียมเกินดังนั้นควรจำกัดปริมาณการกินต่อวัน
CR : สสส / ช้อนปรุงลดเกลือ / ลดเค็มลดโรค