เลือกตั้ง 62 ไม่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมในพรรคการเมืองจริงไหม?
“ไม่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมในพรรคการเมือง” วงเสวนาที่ชวนตัวแทนแต่ละพรรคนำเสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาสถานการณ์สิ่งแวดล้อม งานเสวนาจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา โดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง 2562 มี 6 พรรคการเมืองที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมวงเสวนาประกอบด้วย พรรคกรีน พรรคเพื่อไทย พรรคเกรียน พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน และพรรคประชาธิปัตย์
ภายใต้ชื่องานเสวนาที่ไม่มีเครื่องหมายคำถาม (?) คล้าย ๆ จะบอกว่าไม่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมในพรรคการเมืองไปแล้ว เพราะการเลือกตั้งในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาแทบจะไม่มีเรื่องสิ่งแวดล้อมปรากฏในนโยบายหาเสียง แต่นัยยะของการบอกว่า ”ไม่มี” อีกแง่หนึ่งหมายถึงรูปธรรมของนโยบายที่จะต้องแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง ในขณะเดียวกันเมื่อนำเสนอนโยบายออกมาแล้วต้องทำจริง ไม่ใช่แค่นโยบายลวงให้เลือก
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ ที่ปรึกษาชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินรายการในครั้งนี้กล่าวก่อนเข้าสู่การเสวนาว่า “ที่ผ่านมาพรรคการเมืองมักไม่ค่อยสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ให้น้ำหนักกับเรื่องเศรษฐกิจ เพราะขายนโยบายเป็นรูปธรรมได้มากกว่า จึงเห็นนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ออกมา เช่น ลดโลกร้อน ลดถุงพลาสติก ปลูกป่า ฯลฯ เป็นการรณรงค์มากกว่าจะเป็นนโยบาย”
เริ่มต้นการนำเสนอนโยบายโดย สุเทพ คงเทศ รองหัวหน้าพรรคกรีน กล่าวถึงนโยบายหลักของพรรคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เรื่องแรกคือนโยบายต้นไม้เป็นทรัพย์สิน ผลักดันพ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ ให้ต้นไม้เป็นทรัพย์สินเป็นหลักทรัพย์ได้ สองนโยบายที่ทำกินถูกต้องเป็นธรรมโดยออกมาตรการทำที่ดินทำกินทุกตารางนิ้วในประเทศให้ชอบด้วยกฏหมาย และสามนโยบายเกษตรกรรมสุขภาพส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองวิถีเกษตรอินทรีย์ เกษตรเพื่อสุขภาวะ สุเทพ คงเทศ กล่าวว่า พรรคกรีนมีวาระชัดเจนว่าไม่เอาสารเคมีอันตราย 6 ชนิด เพื่อลดมลภาวะจากสารเคมีอย่างยังยืน
ปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าพรรคเพื่อไทยมีนโยบาย green policy คือนโยบายเศรษฐกิจของพรรค ต้องไปในทิศทางเดียวกับนโยบายสิ่งแวดล้อม มุ่งไปสู่การลดก๊าซเรื่อนกระจก มีนโยบายเปลี่ยนรถยนต์ไปใช้ไฟฟ้าทั้งหมดภายใน5ปี ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกทันที ปลอดประสพ สุรัสวดี กล่าวว่า “ถ้าผมเป็นรัฐบาลเมื่อไร ถุงก๊อบแก็บจะหายไปแน่นอน” และที่น่าสนใจคือ นโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการปลูกป่า 50 ล้านไร่ ซึ่งจะทำทันที นอกจากนี้แล้วพรรคเพื่อไทยยังพูดถึงการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศโดยมีเป้าหมายลด PM 2.5 อย่างจริงจัง และอีกประเด็นที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญคือนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์
ทางด้านพรรคประชาธิปปัตย์ซึ่งมี เกียรติ สิทธีอมร ที่ปรึกษาและสส.บัญชีรายชื่อพรรค เป็นตัวแทนนำเสนอนโยบาย ปรากฏว่านโยบายของพรรคประชาธิปปัตย์ สอดคล้องและเป็นในแนวทางเดียวกันกับนโยบายของทั้งสองพรรคก่อนหน้านี้ ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น นโยบายการแก้ปัญหา PM 2.5 ด้วยการปรับคุณภาพน้ำมันดีเซล ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ประกาศชัดเจนว่า ไม่เอาพาราคว็อต และมีนโยบายที่น่าสนใจ เช่น จะปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ออกมาตั้งแต่ปี 2535 ให้ทันสมัยขึ้น ปรับปรุงการทำ EIA EHIA ให้มีความเข้มข้น นอกจากนี้ยังพูดถึงนโยบายเพิ่มพลังงานสะอาด ไม่เอาถ่านหิน และสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ เพื่อกระจายอำนาจการผลิตไฟฟ้าที่ถูกผูกขาดโดยกฟผ.ฝ่ายเดียว
สำหรับพรรคอนาคตใหม่ นิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชีรายชื่อพรรค พูดถึงการผลักดันสิทธิชุมชนเพื่อแก้ไขการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านแต่ละพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ นอกจากนี้พรรคอนาคตใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องขยะ โดยมีนโยบายลดใช้พลาสติกภายใน 4 ปี สร้างเศรษฐกิจจากขยะ ส่งเสริมโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะในเมืองใหญ่ และประเด็นที่น่าจับตามองคือการให้ความสำคัญกับสิทธิสัตว์ โดยจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์
สมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกรียน กล่าวว่าเรื่องใหญ่ของปัญหาสิ่งแวดล้อมคือ จิตสำนึกเพราะเราขาดสมดุลในการรับรู้ พรรคเกรียนจึงอยากสนับสนุนการผลิตสารคดีธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ และยังเห็นความสำคัญของการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง อยากแก้ปัญหาหมาจรจัดทั้งระบบ และปัญหาเรื่องโรงงาน ซึ่งโรงงานทั้งหมดควรจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อการควบคุมการผลิตและคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ปกรณ์ อารีกุล โฆษกพรรคสามัญชน กล่าวว่า เรามีนโยบายลดความเลื่อมล้ำ 4 ด้าน โดยความเลื่อมล้ำด้านหนึ่งคือปัญหาสิ่งแวดล้อม นโยบายเรื่องแรกคือผลักดันกฏหมายอากาศสะอาด ต้องวัดค่า PM 2.5 จากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม เรื่องที่สองยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ทำให้เกิดวิกฤติทางสุขภาพต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำผังเมือง EIA ยกเลิก EEC ทั้งหมด เรื่องที่สามสนับสนุนพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยกเลิกการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ยกเลิกการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร ไม่เอาพาราคว็อต เรื่องสุดท้ายคือ นโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน ออกพรบ.โฉนดชุมชน
ความน่าสนใจสำหรับนโยบายที่แต่ละพรรคนำเสนอในวันนี้มีหลายเรื่องที่เกือบทุกพรรคมองเห็นในทิศทางเดียวกัน เช่น เรื่องการเข้าไปดูเรื่องมาตรฐานน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นปัญหาในการก่อมลพิษ PM 2.5 หรือหลาย ๆ คนพูดถึงเรื่องโรงงานขนาดเล็กที่ล่าสุด สนช.พึ่งผ่านกฏหมายฉบับหนึ่งเรื่องเกี่ยวกับโรงงาน คืออนุญาตให้โรงงานขนาดเล็กไม่ต้องเข้าในกฏหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีหลายพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย
หรือปัญหา EEC ที่เป็นเรื่องใหญ่ ในเชิงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันให้บางเรื่องไม่ต้องทำ EIA และไม่ต้องใช้กฏหมายผังเมือง ปัญหานี้หลาย ๆ พรรคคัดค้าน ยืนยันว่าหากได้เป็นรัฐบาล EEC ต้องถูกทบทวน โดยเฉพาะคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมและทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม
มาถึงตอนนี้เมื่อได้ฟังแต่ละพรรคนำเสนอนโยบาย น่าจะตอบได้ว่าเลือกตั้งครั้งนี้มีนโยบายสิ่งแวดล้อมจากพรรคการเมืองแน่นอน ซึ่งนโยบายของแต่ละพรรคมีความน่าสนใจ เห็นรูปธรรมที่จับต้องได้ แต่นี่จะอาจเป็นเพียงสนามที่นักการเมืองลงมาพ่นคำสวยหรูแข่งกัน คำมั่นสัญญาที่บอกไว้จะเป็นเพียงแค่ลมปากหรือไม่ ต้องติดตามหลังการเลือกตั้งต่อไป
บทความ นรินทร์ ปากบารา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
แหล่งที่มา: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร