"บก.ลายจุด" แนะแก้ปัญหาผักตบชวา ลั่นต่อให้ผู้นำประเทศมีสมองเท่าเม็ดถั่วก็แก้ไขได้
13 มิ.ย. 62 บนเพจ สมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด ได้เผยวิธีแก้ไขปัญหาผักตบชวา โดยระบุว่า
ผักตบชวา 1 ต้นสามารถขยายเป็น 1,000 ต้นภายใน 1 เดือน และเป็น 1,000,000 ต้นภายใน 1 ปี (อัตราสูงสุด)
การให้ประชาชนเก็บผักตบชวาคนละ 3 ต้นแก้ปัญหานี้ไม่ได้
การจัดเก็บที่มีคุณภาพต้องเก็บขึ้นจากน้ำก่อนที่มันจะขยายตัว คือ ต้องเก็บตอนมันยังมีปริมาณน้อย ไม่ใช่เก็บตอนที่มันเยอะ
ฤดูฝนเป็นช่วงที่ผักตบชวาขยายตัวได้เป็นอย่างดี เพราะฝนได้ชะล้างหน้าดินซึ่งเกษตรกรได้ใส่ปุ๋ยเคมีจำนวนมาก ทำให้ปุ๋ยเคมีไหลลงแหล่งน้ำและผักตบดูดซับเพื่อขยายพันธ์
เคยสงสัยมั๊ยว่า ทำไมเก็บหมดแล้วผักตบถึงยังเกิดขึ้นอีก ส่วนหนึ่งเกิดจากผักตบจากต้นน้ำไหลมาเพิ่ม แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าผักตบมีเมล็ดตกอยู่ใต้น้ำ แม้เก็บผักตบหมดแล้ว เมื่อถึงเวลาหนึ่งเมล็ดผักตบจะงอกขึ้นมาจากใต้น้ำ ทำให้การจัดเก็บไม่หมดสักที
หน่วยงานรัฐมักเก็บผักตบในขณะที่ยังสดอยู่ใส่รถบรรทุกแล้วเอาไปทิ้ง (ไม่รู้ทิ้งที่ไหน) แต่การจัดการที่ถูกต้อง ควรตากแห้งก่อน เพื่อลดปริมาณ ประหยัดค่าขนส่ง แต่เนื่องจากการจัดเก็บผักตบไม่ได้ออกแบบในเชิงระบบ เราจึงเห็นภาพรถแมคโครตัดผักตบใส่รถบรรทุกทั้งที่ยังสดๆ อยากบอกว่ารถบรรทุกแบกน้ำในผักตบไปกว่า 90% ตัวผักตบจริงๆมีแค่ 10 %
เมื่อรัฐบาลกำจัดผักตบไม่ได้ แล้วผักตบในปีนั้นอยู่ที่ไหน คำตอบคือ ไหลลงทะเล แล้วมันก็ตาย โดยเราจะเห็นซากผักตบลอยขึ้นชายหาดอยู่เป็นเรือ่งปกติ เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ทางทะเล อันนี้ไม่รวมขวดและถุงพลาสติกอีกจำนวนมาก
แนวทางจัดการปัญหาผักตบชวาคือ ต้องทำในช่วงที่ผักตบยังมีจำนวนน้อยและทำก่อนช่วงฤดูฝน เมื่อกวาดล้างหมดแล้ว ควรมีเรือตรวจการคอยเก็บผักตบที่ยังหลงเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ
ซากผักตบชวาหลังเอามาตากแห้ง ควรประกาศให้เกษตรที่ต้องการนำไปทำปุ๋ยพืชสดนำไปใช้ประโยชน์ โดยอาจให้เกษตรกรมาขนได้เองฟรี หรือรัฐจะทำโครงการสนับสนุนการผลิตปุ๋ยพืชสดแล้วแจกจ่ายต่อเกษตรกรในพื้นที่
พรรคเกียนเชื่อว่า ต่อให้ผู้นำประเทศมีสมองเท่าเม็ดถั่วก็สามารถแก้ปัญหาผักตบชวานี้ได้ถ้าเดินแนวทางของพรรคเกียน
ไม่สงวนลิขสิทธิ์
ผู้เขียน
สมบัติ บุญงามอนงค์
หัวหน้าพรรคเกียน