ประวัติก๋วยเตี๋ยวเรือ ที่เรานิยมกินกันอยู่ทุกวันนี้
ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ พ.ศ.2199-2231 มีการเปิดการค้ากับอารยะประเทศ อาหารสารพัดชนิดไหลเข้ามาในเมืองไทยและก็มีการดัดแปลงให้เข้ากับท้องถิ่นและวัสดุในท้องที่ที่มี ชาวจีนที่มาค้าขายก็นำก๋วยเตี๋ยวมาทำกินกันและก็แบ่งให้ผู้ร่วมค้ากินก็เป็นของใหม่ และแปลกสิ่งสำคัญก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารจานเดี่ยว แค่เพียงลวกเส้นใส่หมูเติมน้ำซุปก็กินได้แล้ว
ก๋วยเตี๋ยวในปัจจุบันช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดก็จะเป็นในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในปีพ.ศ. 2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ การถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าในเดือนตุลาคมก็ยังต้องใช้เรือพายไป ส่วนในทำเนียบรัฐบาลการประชุมคณะรัฐมนตรีจึงต้องจ้างเรือเข้าไปเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวคณะรัฐมนตรีที่มาเข้าร่วมประชุม ผู้นำประเทศชมอร่อยจึงมีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยว และให้มีการขายก๋วยเตี๋ยวให้มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และวัฒนธรรมสร้างชาติ หน่วยงานราชการทุกกรมกองข้าราชการส่วนใหญ่ต้องหันมาขายก๋วยเตี๋ยวเพื่อสนองนโยบาลของรัฐบาล ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็น ยุคทองของก๋วยเตี๋ยว
ในปัจจุบันก๋วยเตี๋ยวมีการพัฒนาหลากหลายในแต่ละถิ่นแต่ละภาคเช่นก๋วยเตี๋ยวเรืออยุธยาก็จะจำกัดความว่า สูตรโบราณ ก๋วยเตี๋ยวหมูใส่กุ้งแห้ง เพราะแต่ก่อนไม่มีผงชูรสก็เลยใช้กุ้งแห้งแทนผงชูรสไปในตัวเพื่อกระตุ้นต่อมน้ำลาย จนมาเป็นก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย แต่กล่าวกันว่าคนเมืองสุโขทัยแต่โบราณจะเรียกว่า "ก๋วยเตี๋ยวไทย" แต่คนต่างถิ่นโดยทั่วไปก็จะเรียกเต็มยศว่า "ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย" ส่วนที่ต่างจากถิ่นอื่นก็คือการปรุงด้วยน้ำมะนาวถั่วลิสงป่นและถั่วฝักยาวเป็นสูตรหลัก ซึ่งก็คล้ายกับก๋วยเตี๋ยวของเมืองกำแพงเพชรที่เรียกว่า "ก๋วยเตี๋ยวชากังราว" เพียงต่างกันที่สุโขทัยใส่หมูแดงเพิ่มเข้าไปและก๋วยเตี๋ยวชากังราวปรุงรสด้วยหัวไชโป๊กับกุ้งแห้ง ส่วนทางภาคใต้ พบที่เมืองนครศรีธรรมราช ก็จะใช้หมูสามชั้นต้มหั่นใส่แทนหมูแดง แต่จะเปลี่ยนจากถั่วฝักยาวมาเป็นผักบุ้งแทนคล้ายก๋วยเตี๋ยวอยุธยาที่ใส่ผักบุ้ง และก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิตเมืองปทุมธานีก็จะเหมือนของอยุธยาเช่นกัน
สมัยก่อนพ่อค้าแม่ค้าที่ขายก๋วยเตี๋ยวเรือจะทำทุกอย่างเพียงคนเดียวเพราะเรือแบกน้ำหนักไม่ไหว ทำทุกอย่างตั้งแต่ พายเรือ ลวกเส้น ปรุงก๋วยเตี๋ยว เสริฟ เก็บตังค์ เก็บชาม ล้างชาม ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ทำโดยไม่ได้ขยับเลยแม้แต่น้อยคือ พายเรือมา พอมีคนเรียก ก็จะมาจอดเทียบท่า เอาขาข้างนึงยันบันไดท่าน้ำเป็นฐานไว้ แล้วเริ่มลวกก๋วยเตี๋ยวขาย ส่วนกระบวนการล้างชามนั้นก็แค่แกว่งๆจุ่มๆในคลองนั่นเอง เพราะสมัยก่อนน้ำในคลองนั้นใสสะอาด ทีนี้ การที่คนขายอยู่ในเรือ คนซื้ออยู่บนฝั่ง การส่งก๋วยเตี๋ยวขึ้นมาสู่ลูกค้านั้น หากเป็นชามใหญ่อาจทำให้หนัก ยกลำบาก และเรือที่โคลงเคลงอาจทำให้น้ำซุปกระฉอกมาลวกขาคนขายได้ ดังนั้นก๋วยเตี๋ยวเรือจึงทำชามเล็กๆ น้ำซุปน้อยๆแต่เข้มข้นเข้าไว้ ทำให้ส่งมอบก๋วยเตี๋ยวได้โดยง่าย ปลอดภัยด้วยประการฉะนี้แล...
ทุกวันนี้หากินยากแล้วนะครับก๋วยเตี๋ยวเรือแบบดั้งเดิมที่มีคนพายเรือมาขายเนี่ย