ประเทศไทยก็มีขนมแนวคุ้กกี้เสี่ยงทายนะ
ในหนังสือ ๑๐๐ ปีพระยาอนุมานราชธน หมวด ขนบธรรมเนียมประเพณี เล่ม ๖ ได้กล่าวถึง ขนมแต่งงาน ไว้ว่า ขนมชะมด และ ขนมสามเกลอ นั้น ถือเป็น ขนมเสี่ยงทาย ในพิธีแต่งงาน สมัยโบราณ โดยเอาขนมที่ ยังไม่ได้ทอดน้ำมัน มา ๓ ก้อน จับให้ชนติดกัน อย่างก้อน ๓ เส้า นำไป ชุบแป้ง แล้วค่อย ๆ บรรจงวางลง ในกระทะน้ำมันทอด
ขนมชะมด
ขนมนี้จัดเป็นขนมเสี่ยงทายในงานแต่งงาน ไส้เป็นถั่วทองแช่น้ำนึ่งสุกโขลกผสมเกลือและพริกไทย
ลักษณะ เป็น 3 ลูกบีบติดแล้วชุบแป้งทอด ถ้าทอดแล้วแยกออกจากกัน หมายความว่าจะอยู่ด้วยกันไม่ยืด ถ้ายังติดกัน 2 ลูก หมายความว่าจะมีลูกยาก บางทีต้องชุบแป้ง 3-4 ครั้งจึงไม่แตกจากกัน การแตกจากกันของขนมนี้หมายถึงความแตกแยกของคู่สมรส บางครั้งต้องเปลี่ยนคนทำใหม่
ยังมีขนมที่คล้ายขนมชะมด แต่ไส้ต่างกัน คือ ขนมสามเกลอ
ขนมสามเกลอ เป็นขนมที่ใช้เสี่ยงทายในงานแต่งงาน
ลักษณะ เป็นลูกกลม ๆ ทำมาจากแป้งข้าวเหนียว+แป้งมัน ไส้ข้างในทำมาจากน้ำตาลมะพร้าว, หัวกะทิ, เนื้อมะพร้าวขูด, ถั่วเขียวซีกบด
ก่อนทอดจะปั้นเป็น 3 ลูกติดกันแล้วนำชุบแป้งเพื่อทอด เพื่อใช้ทำนายชีวิตคู่ต่อจากนี้ โดยเชื่อว่าถ้าขนมยังเกาะติดกันทั้งสามลูก ทายว่า ชีวิตคู่จะราบรื่น ครองรักได้นาน มีลูกไว้สืบทอดสกุล ถ้าทอดแล้วหลุดออก 1 ลูก แปลว่า จะมีลูกยาก หรือถ้าทอดแล้วหลุดออกหมด แปลว่า จะอยู่กันได้ไม่นานต้องแยกทางกัน ดังนั้น ต้องเปลี่ยนคนทอด แต่อย่างไรก็ตามก็จะมีหมอขวัญมาแก้เคล็ดเพื่อให้คู่บ่าวสาวครองรักอย่างสมบูรณ์ตลอดไป
(รูปขนมสามเกลอจากครัวคุณต๋อย)
แต่ส่วนใหญ่ขนมทั้ง 3 ลูกจะไม่แยกกันอยู่แล้ว เนื่องจากทำมาจากแป้งข้าวเหนียว อาจผสมแป้งให้มีความเหนียวเป็นพิเศษ(เหมือนเม็ดบัวลอย) หรือใช้ไม้กลัดไว้ก็ได้
ในสมัยใหม่อาจมีการทำแป้งคลุมขนมไว้ ซึ่งทำมาจากไข่ไก่ เพิ่มสีสันลงไป ตามรูป
(ขนมสามเกลอสมัยใหม่)
รูปขนมกง
รูปร่างลักษณะของขนมมีความกลมเหมือนล้อกงเกวียน มีความเชื่อกันว่า ขนมกงเป็นขนมที่ไม่มีรอยต่อ เปรียบเสมือนความรักของคู่บ่าวสาวที่จะมีต่อกันไม่รู้จบ ส่วนแป้งที่เคลือบขนมกง ก็ต้องมีเม็ดพองๆ ที่เรียกว่า "หัวแก้วหัวแหวน" ขึ่นตามวงขนม
ความเชื่อ ถ้าหัวแก้วหัวแหวนขึ้นเยอะยิ่งดี เชื่อกันว่าคู่บ่าวสาว จะได้ลูกชาย แต่ถ้าตัวแป้งเตียนเลี่ยน ไม่โป่งพอง เชื่อกันว่าคู่บ่าวสาว จะได้ลูกสาว ส่วนแป้งที่หยิบมาปั้น หยิบมาเท่าไหร่ก็ปั้นไปเลย ห้ามใส่กลับไปใหม่ เพราะเชื่อว่าจะอยู่กันไม่ยืด
(เม็ดหัวแก้วหัวแหวน)
คนไทยกับความเชื่อเป็นของที่คู่กันมาตั้งแต่โบราณประเพณี จริงๆก็เป็นกุศโลบายให้เรามีความระมัดระวังในการทำขนม ในการทอด มีความแม่นยำในการตวงและปรุงขนม จะได้ไม่มีความผิดพลาด รสชาติจะได้อร่อย หวาน มัน นั่นเองจ้า
แหล่งที่มา: http://www.thaitopwedding.com/wedding-ceremony/organizer-17.html, https://th.wikipedia.org/wiki/