โพสต์น่าคิด!! เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง พูดถึงวุฒิสภา “ไส้ติ่งประชาธิปไตย” เลือกสรรแต่งตั้งจาก คสช. จำนวน 250 คน
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง โพสต์ไว้ 12 ข้อ สว. ไส้ติ่งนั้นเป็นแบบไหนลองอ่านกัน
วุฒิสภา “ไส้ติ่งประชาธิปไตย”
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
วันที่ 11 พ.ค.นี้ เราคงได้เห็นโฉมหน้าสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกสรรแต่งตั้งจาก คสช. จำนวน 250 คน
ถ้าจะพิจารณาความเหมาะสมของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะต้องพิจารณาที่มาของ ส.ว. ควบคู่เปรียบเทียบกับอำนาจหน้าที่
1. ในหลักการของระบอบประชาธิปไตย ที่เน้นการมีส่วนร่วมและอำนาจของปวงชน ส.ว.ที่มีที่มาจากประชาชน เช่น การเลือกตั้งจากประชาชน ก็น่าจะมีอำนาจหน้าที่มาก แต่ถ้า ส.ว.ที่มีที่มาจากการแต่งตั้งสรรหาจากกลุ่มบุคคลหรือบุคคลก็ควรจะมีอำนาจหน้าที่น้อยกว่า
2. ประเทศไทยมี ส.ว.มาแล้วหลายประเภท ตั้งแต่มีการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจ คือ รัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งก็มีอำนาจเพียงกลั่นกรองกฎหมาย และอภิปรายท้วงติง แต่อำนาจสุดท้ายแท้จริงอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร
มาจนถึง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน (รัฐธรรมนูญ 2540) มีอำนาจเพิ่มเติมจากกลั่นกรองกฎหมาย อภิปรายท้วงติงแล้ว ยังมีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมีอำนาจเลือกสรรองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น กกต. ปปช. ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง เป็นต้น
3. ส.ว.ที่ประเทศของเราจะมีในอีกไม่กี่วัน มีที่มาอยู่ 3 ประเภท
3.1 เป็นโดยตำแหน่ง 6 คน เป็นบุคคลในแวดวงทหาร ตำรวจ และกองทัพทั้งสิ้น ได้แก่ ผบ.เหล่าทัพทั้งสามเหล่าทัพ ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงกลาโหม
3.2 โดยการสรรหาแต่งตั้งจาก คสช. 194 คน
3.3 จากการให้ผู้ประสงค์จะเป็น ส.ว. สมัคร และเลือกกันเองให้ได้จำนวน 200 คน แล้ว คสช.เลือกเหลือ 50 คน
โดยสรุป คือ มาจากดุลยพินิจและการแต่งตั้งของ คสช.
4. ส.ว.ที่จะมีขึ้น 250 คน มีอำนาจและภารกิจพิเศษเพิ่มเติม จากการกลั่นกรองกฎหมาย อภิปรายท้วงติงแนะนำ คือ มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจร่วมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ
5. ส.ว. 250 คนในครั้งนี้ จะมีอายุการทำงานในอำนาจดังกล่าว 5 ปี เท่ากับว่า วุฒิสภาใน 5 ปีแรก มีบทบาทมากเป็นพิเศษ สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้อย่างน้อย 2 สมัย
ซึ่งก็คือเป็นผู้กำหนดสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล
6. จึงมิพักต้องสงสัยว่า คสช.และรัฐบาลปัจจุบัน จะคัดเลือกแต่งตั้งคนที่จะสนับสนุนคนที่รัฐบาลและ คสช.สนับสนุนให้เป็นนายกฯ ต่อ ซึ่งก็คือสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ปัจจุบันและหัวหน้า คสช. และผู้ร่วมสำคัญในการคัดสรรแต่งตั้งคนเป็น ส.ว. มาเลือกตัวเองเป็นนายกฯ
7. มิพักต้องสงสัยว่า บุคคลที่จะได้เป็น ส.ว.ในครั้งนี้ ก็จะเป็นข้าราชการและอดีตข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการทหารจากกองทัพทั้งสาม ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน จะมีบุคคลในแวดวงธุรกิจ นักวิชาการ สื่อมวลชนบ้าง ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ใจ หรือ “ใจสั่งมา”
8. จึงเป็นเรื่องไม่ง่าย ที่มีผู้ตั้งความหวัง และเรียกร้องให้ ส.ว. 250 คนในครั้งนี้ ฟังความต้องการของประชาชน ผ่านคะแนนการเลือกตั้ง และผ่านการเสนอแนะ บอกกล่าวของสังคม จะเป็นจริง เสมือนการตั้งความหวังให้พยัคฆ์ออกลูกเป็นปลาโลมา
9. ชอบหรือไม่ชอบ ก็ต้องอยู่กับระบอบประชาธิปไตยซ่อนรูปอย่างนี้ไปอีกระยะหนึ่ง
คนชอบบทบาททหารในการเมืองไทย เพราะคิดว่าทหารดีกว่า บริสุทธิ์กว่านักการเมือง กองทัพและราชการดีกว่าพรรคการเมือง และก็ตั้งความหวังและจินตนาการว่า เราจะได้ “เผด็จการโดยธรรม” แต่ต้องไม่ลืมด้วยว่า ระบบตรวจสอบจากวุฒิสภาก็คงจะด้อยลงอย่างมาก
คนที่ไม่ชอบ ก็คงจำต้องยอม เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร
สถาปนิกการเมืองฝีมือ “ดี” ได้ออกแบบไว้อย่างนี้
10. ประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังยึดอำนาจรัฐประหาร แล้วมีพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ แม้มีรัฐธรรมนูญที่เอื้อกับผู้มีอำนาจสุดๆ ก็อยู่ได้ไม่นาน เว้นแต่จะมี “ผู้นำโดยธรรม” เข้ามาครองประเทศ แต่พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจก็ไม่เคยมีพรรคใดคงอยู่ได้ยาวจนถึงปัจจุบัน
11. ความพยายามของพรรคการเมืองกลุ่มหนึ่ง ที่จะ “ปิดสวิทช์” วุฒิสภา โดยร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลให้ได้จำนวน ส.ส.มากล้นเกินครึ่งมากๆ ของสภาผู้แทนราษฎร (คือมากกว่า 375 คน ซึ่งเท่ากับมากเกินครึ่งของสองสภารวมกัน) คงจะเกิดได้ยาก เพราะตัวของกลุ่มพรรคการเมืองดังกล่าวก็มีปัญหาความน่าเชื่อถือ ความซื่อสัตย์ ความตรงไปตรงมาที่จะไม่สืบทอดอำนาจระบอบทักษิณ
12. จะมีพรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และอื่นๆ ที่ไม่คิดประโยชน์เฉพาะหน้า ระยะสั้น ไม่กระสันอยากร่วมอำนาจร่วมรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็คงยากที่จะหวัง
แต่สำหรับ ส.ส.บางคนในบางพรรค เราอาจจะได้เห็นที่จะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติอิสระ (ฝ่ายค้านสร้างสรรค์)
ไส้ติ่งประชาธิปไตย
ผมเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง เคยร่วมร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เคยสังเกตเห็นว่า วุฒิสภาทำหน้าที่ในรัฐสภา เสมือนไส้ติ่งของร่างกายที่มีประโยชน์ไม่มาก
จะใช้วุฒิสภาเพื่อประนอมอำนาจ ระหว่างอำนาจของสถาบันต่างๆ กลุ่มคนระดับสูง และอำนาจของประชาชนทั่วไป ก็ต้องออกแบบให้เหมาะสม อย่าให้อำนาจหน้าที่ล้ำเส้น ล้ำหน้าเกินไป
ครั้งนี้ ไส้ติ่งถูกออกแบบให้ใหญ่ มีบทบาทมาก ก็ต้องจับตาดูว่าไส้ติ่งที่มีขนาดใหญ่ จะกระทบรบกวนอวัยวะอื่นรอบข้างมากน้อยแค่ไหน ร่างกายจะรู้ในเวลาไม่นาน ไส้ติ่งจะแตก หรือจะต้องตัด ก็จะได้เห็นกันครับ
...0...