ย้อนตำนานศักดิ์สิทธิ์ "พระธาตุศรีสองรัก"… จากสัจจะและไมตรี สู่การสร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นสักขีพยานฮัก
ความศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์พระธาตุศรีสองรัก ประจักษ์พยานสัตยาอธิษฐานของสองกษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยสัจจะและไมตรี ที่ดำรงอยู่คู่เมืองด่านซ้าย จังหวัดเลย มายาวนานถึง 458 ปี ก่อกำเนิดเป็นความศรัทธาและศูนย์รวมจิตใจของชาวอำเภอด่านซ้าย ชาวจังหวัดเลย ตลอดจนพี่น้องชาวลาวมาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยความศรัทธาที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ ในทุกๆปีจึงได้มีการจัดประเพณีนมัสการพระธาตุศรีสองรัก โดยในปี 2561นี้ ตรงกับวันที่ 26-29 เมษายน 2561 กำหนดมีขึ้น 4 วัน 3 คืนระหว่างขึ้น 12 ค่ำ ถึง ขึ้น 15 ค่ำเดือน6 ชาวบ้านจะมาช่วยกันชำระล้างองค์พระธาตุ และบริเวณธาตุทั้ง 4 ทิศจนสะอาด ส่วนวันถัดมาเป็นวันเตรียมเครื่องบายศรีพระธาตุ เป็นวันสุกดิบ พอวันขึ้น15 ค่ำเป็นวันบูชาพระธาตุ คนในชุมชนพระธาตุศรีสองรักมารวมกันที่บริเวณพระธาตุศรีสองรัก แม้คนที่อยู่ริมฝั่งน้ำโขงก็เข้ามาร่วมพิธีกรรมนี้กันอย่างเนืองแน่น
ตามประวัติความเป็นมาของการสร้างพระธาตุศรีสองรัก สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์และครอบคลุมไปถึงหลวงพระบาง) เนื่องจากในระหว่างที่กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ครองราชสมบัติ ตรงกับสมัยที่พม่าเรืองอำนาจ มีกษัตริย์ที่เข้มแข็งในการปกครองและการสงคราม คือ พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ และพระเจ้าบุเรงนองได้ยกทัพเข้ามารุกรานหวังจะแผ่ขยายอิทธิพลมายังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระไชยเชษฐาธิราช ต่างเห็นสมควรรวมกำลังเป็นพันธมิตรเพื่อต่อสู้กับพม่า จึงทรงสัตยาอธิษฐานว่าจะไม่ล่วงล้ำดินแดนของกันและกัน และเพื่อเป็นที่ระลึกในการทำไมตรีต่อกันได้ทรงร่วมสร้างเจดีย์ขึ้นเป็นสักขีพยาน เหตุที่สร้างขึ้น ณ บริเวณนี้ (อำเภอด่านซ้าย) ก็เนื่องจากเป็นรอยต่อของทั้งสองดินแดนนั่นเอง โดยให้ชื่อว่า “พระธาตุศรีสองรัก” เริ่มสร้าง ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2103 แล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2106
ข้อห้าม การเข้าไปกราบองค์พระธาตุศรีสองรัก มีข้อห้ามว่า ห้ามสวมใส่เสื้อผ้าสีแดง ร่มแดง หมวกแดง เพราะมีความเชื่อว่า สีแดง เป็นสีของเลือด การรบราฆ่าฟัน สงครามและความรุนแรง ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของการสร้างพระธาตุเพื่อไมตรีและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ สีแดงจึงเป็นสีต้องห้าม นอกจากนี้ยังมีตำนานพื้นบ้านของสองพี่น้องมั่นกับคง ที่เชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณซึ่งคอยปกปักษ์รักษาองค์พระธาตุมาอย่างยาวนานและยังมีเรื่องเล่าพื้นบ้านอื่นๆ
ข้อห้ามอีกหนึ่งอย่างคือ ห้ามสุภาพสตรีเข้าไปในรั้วบริเวณที่ประดิษฐานองค์พระธาตุ ส่วนความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์นั้นมักโดดเด่นด้านการปกป้องคุ้มครองจากภัยอันตราย หากใครที่จะเดินทางไกล หรือ มีความห่วงใยในบุตรหลานที่อยู่ต่างถิ่นต่างแดน ก็มักจะมากราบไหว้ขอพรองค์พระธาตุให้ปกปักษ์รักษา และหาเหรียญพระธาตุมาอาราธนาขึ้นคอจะเกิดความอุ่นใจ มีเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ส่วนเรื่องเล่าต่างๆก็มีอยู่เช่นกัน คือ ในสมัยก่อนมีเรื่องเล่าว่า ช่วงระยะเวลาหนึ่งไม่มีใครสามารถถ่ายภาพองค์พระธาตุได้เลย เพราะถ่ายอย่างไรก็ถ่ายไม่ติด ส่วนของสำคัญที่บรรจุในพระเจดีย์ มีคำบอกเล่ากันไปต่างๆ โดยมากเชื่อว่าภายในบรรจุสิ่งของอันศักดิ์สิทธิ์เช่น พระพุทธรูป หรือพระธรรมคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
สำหรับใครที่มีอุปสรรคต่างๆปรารถนาบนบานต่อองค์พระธาตุก็สามารถทำได้ โดยจะมีเจ้ากวนนางเทียมหรือแสนคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้ทำพิธีบนบานให้ การแก้บนพระธาตุศรีสองรัก ก็ให้นำต้นผึ้งน้อยไปยังวัดพระธาตุศรีสองรัก 10 ต้นพร้อมกับขัน 5 ขัน 8 หากเป็นต้นผึ้งใหญ่ต้องมีทองคำเปลว 20 แผ่น โดยเอาต้นผึ้งและดอกไม้ธูปเทียนไปวางไว้ที่ฐานเจดีย์พร้อมกราบไหว้และกล่าวคำแก้บนเป็นเสร็จพิธี
การแก้บนต้องขอให้แสนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ทำพิธีและกล่าวคำขอแก้บนด้วย แต่โดยส่วนใหญ่ประชาชนที่นับถือพระธาตุศรีสองรักจะมาแก้บนพระธาตุศรีสองรักในวันที่ทำพิธีสมโภชน์และนมัสการพระธาตุศรีสองรัก คือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ชาวด่านซ้ายที่แทนตัวเองว่า “ลูกผึ้งลูกเทียน”จะนำต้นผึ้งนับแสนต้นแห่ขึ้นไปตามบันไดพญานาคซึ่งเป็นทางขึ้นไปสักการะพระธาตุ หากมองจากบันไดขั้นบนสุดก็จะเห็นต้นผึ้งสีเหลืองเนืองแน่นเต็มบริเวณ แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของชาวด่านซ้ายต่อองค์พระธาตุ นอกจากนี้ชาวบ้านจะนำเทียนเวียนหัวซึ่งเป็นลักษณะเทียนฟั่นยาวพอคาดได้รอบศรีษะ มาถวายองค์พระธาตุในทุกๆปี เพราะเชื่อว่าหากทำแล้วจะอยู่ดีมีแฮง ปราศจากทุกข์โศก บารมีองค์พระธาตุช่วยปกปักษ์คุ้มครอง
สำหรับคาถาบูชา “พระธาตุศรีสองรัก” นั้น ให้ว่านะโม ๓ จบ แล้วตามด้วย “นะคะโลเก เทวะโลเก ชมพูทีเป ตาวะติงเส ชินนะธาตุโย อะระหันตา นะมามิ”