“อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เคยเกือบถูก “รื้อ”
“อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เคยเกือบถูก “รื้อ”
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 ต่อมาเมื่อเกิดรัฐประหารล้มรัฐบาลหลวงธำรงฯ อันเป็นรัฐบาลของกลุ่มคณะราษฎรได้ ขั้วอำนาจเก่าและกลุ่มทหารจึงได้เริ่มกลับมามีบทบาทมากขึ้น และเป็นเหตุให้รัฐบาลในยุคถัดมาได้เสนอให้มีการ “รื้อ” อนุสาวรีย์แห่งนี้ทิ้งเพื่อสร้าง อนุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 7แทน
หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2494 ทางกรมประชาสัมพันธ์ได้ประกาศว่าในเดือนกรกฎาคม 2495 ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติจัดสร้างอนุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สี่แยกถนนราชดำเนินจำเป็นต้องรื้อถอนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออก เพื่อก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ขึ้นแทน
เดิมทีแผนโครงการนี้ต้องการให้สร้างอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมมุขตะวันออก แต่คณะกรรมการฯ มองว่า พื้นที่ดังกล่าวคับแคบไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะเข้าไปสักการะ
ต่อมาพล.ต.บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการก่อสร้าง จึงเสนอว่า
“.. ควรจะสร้างตรงอนุสสาวรีย์ประชาธิปตัยปัจจุบันนี้ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ ขณะนี้เป็นอนุสสาวรีย์ซึ่งเป็นของสิ่งหนึ่งคือรัฐธรรมนูญ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน จึงมิใช่พระองค์ท่าน เป็นเพียงวัตถุส่งของเท่านั้น ฉะนั้นเหตุใดจึงไม่เอาพระบรมรูปของพระองค์ท่านตั้งแทน.. ”
ด้านจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เมื่อได้ทราบว่าคณะกรรมการฯ ต้องการรื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อสร้างอนุสาวรีย์พระปกเกล้า ก็ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน แต่ พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นและเป็นหนึ่งในสมาชิกแรกเริ่มของคณะราษฎร ได้ทำหนังสือถึงจอมพล ป. ขอให้หาทำเลใหม่ในการจัดสร้างแทน แต่การคัดค้านของพล.ต.ประยูรไม่เป็นผล
แต่ด้วยปัจจัยทางด้านการเงิน โครงการนี้จึงขาดงบประมาณ แม้จะมีความพยายามผลักดันให้มีการสร้างอย่างเร่งด่วน แต่ กระทรวงการคลังที่พล.ต.ประยูร นั่งเก้าอี้เป็นรัฐมนตรีอยู่นั้น ไม่อาจจัดหาเงินมาให้ได้ และเสนอให้ใช้งบประมาณในปี พ.ศ. 2496 แทน คณะกรรมการฯ จึงไปขอให้จอมพล ป. นำงบจากกองสลากมาใช้ แต่จอมพล ป. อ้างว่า เงินสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ใช้ไปหมดแล้ว
ท้ายที่สุด พล.ต.บัญญัติจึงทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ให้ระงับการสร้างไว้ก่อนเนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งจอมพล ป. รับทราบ พร้อมแสดงความเห็นว่า “เมื่อยังไม่มีเงินก็ให้รอไปก่อน ส่วนการสร้างที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลางนั้น ดูจะไม่เหมาะสม”
โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ได้เงียบหายไป จนกระทั่งถึงสมัยรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี พ.ศ. 2512 ได้มีการเสนอให้สร้างรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมกับให้สร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ร่วมอยู่ด้วย แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติให้รื้ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตามแนวทางเดิมอีกครั้ง
แต่โครงการรื้อถอนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนินของรัฐบาลจอมพลถนอมก็มิได้เกิดขึ้น และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลถนอมก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การก่อสร้างอนุสาวรีย์ของพระปกเกล้าฯ ประสบผลสำเร็จ (แล้วเสร็จในปี 2523 หลังรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ อนุมัติในปี 2517) จึงไม่มีการรื้อถอนอนุสาวรีย์ประขาธิปไตยอีกเป็นต้นมา
ภาพประกอบ: โครงการสร้างอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. 2495 ภาพ แบบร่างหนึ่งในสามแบบ ที่ออกแบบโดยหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
อ้างอิง : บทความ “การเมืองว่าด้วยอนุสาวรีย์พระปกเกล้าฯ กับแนวคิดกษัตริย์นักประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2494” โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2556