หยุด ‘ตรุษจีน’ ทำลายสิ่งแวดล้อม รณรงค์ลดการเผา-เลิกหูฉลาม
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่กำลังจะมาถึง นับเป็นหนึ่งในวันสำคัญอีกครั้ง โดยเฉพาะกับลูกหลานชาวจีน ที่กำลังเตรียมตัวเฉลิมฉลองเทศกาล “ตรุษจีน” ในฐานะวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินแดนมังกร
อย่างไรก็ตาม วาระตรุษจีนในปีนี้กำลังอยู่ในช่วงจังหวะเดียวกับที่ประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังเผชิญกับมลภาวะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่กำลังสร้างความวิตกมากกว่าครั้งใดๆ
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ในฐานะโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หนึ่งในมาตรการที่กรมอนามัยได้กำหนดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมสำหรับประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีน คือมาตรการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันควัน PM10 และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
ทั้งนี้ ในกรณีการไหว้เจ้าและการประกอบพิธีกรรมในเทศกาลตรุษจีน ได้รณรงค์ให้ประชาชนใช้ธูปขนาดสั้น เผากระดาษเงินกระดาษทองทีละน้อยๆ เพื่อลดปริมาณควัน รวมทั้งสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่าง เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว
“เทศกาลตรุษจีนในปีนี้ กรมอนามัยมีความห่วงใยสุขภาพประชาชนทุกคน โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนที่ประกอบพิธีกรรม การออกมาตรการดังกล่าวจึงเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของประชาชน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ขณะเดียวกัน ยังคงเป็นอีกหนึ่งปีที่องค์กรไวลด์เอด ช่วยสัตว์ป่า (WildAid) ชวนคนไทยเลิกบริโภคหูฉลามและเมนูที่ทำจากฉลามต้อนรับตรุษจีน หลังเผยว่าตรุษจีนคือหนึ่งในงานเทศกาลเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ ที่มีการบริโภคหูฉลามมากที่สุด และมีส่วนกระตุ้นให้ประเทศไทยเป็นตลาดบริโภคและค้าหูฉลามที่สำคัญของโลก
จากผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทยขององค์กรไวลด์เอด เมื่อปี 2560 พบว่าคนไทยในเขตเมืองมากกว่าครึ่งเคยบริโภคหูฉลาม และที่น่าเป็นห่วงคือมากกว่า 60% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต
ท่ามกลางฉลามกว่า 100 ล้านตัวที่ถูกฆ่าในแต่ละปี จำนวนนี้ครีบของฉลามถึง 73 ล้านตัวจะถูกนำมาทำเป็นซุปหูฉลาม หรือเมนูอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยจัดว่าเป็นตลาดค้าครีบฉลามรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก และผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงการกระทำอันโหดร้ายเบื้องหลังเมนูหูฉลามนั้น
“หูฉลามไม่ได้เป็นของมงคล ไม่ได้จัดอยู่ในสมุนไพรจีน หรืออยู่ในตำราวิทยาการแพทย์แผนจีนใดๆ มาก่อน เป็นเพียงค่านิยมเดิมๆ ว่าการเสิร์ฟหูฉลาม จะเพิ่มความหรู ซึ่งไม่สะท้อนกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง การที่เราไปกินเอาค่านิยมความหรู กำลังสร้างความเสียหายมากมาย” คำบอกกล่าวจาก วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมจีนชื่อดัง
สอดคล้องกับ ธรรมธัช เชี่ยวพรหมคุณ อาจารย์คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่ระบุว่า ในปัจจุบันตำราเรียนการแพทย์แผนจีน วิชาเภสัชวิทยา หรือวิชาสมุนไพรจีน ไม่มีชื่อหูฉลามเป็นสมุนไพรจีนอยู่อีกแล้ว โดยทั่วไปการเอามาเข้ายา จะต้องระบุปริมาณที่ใช้ต่อวันอย่างชัดเจน ซึ่งในหูฉลามไม่มีการระบุตรงนี้เอาไว้ และไม่เคยมีการนำมาใช้เพื่อเข้าตำรับยามาก่อน
“เดิมทีสมัยราชวงศ์หมิง หูฉลามถือว่าเป็น 1 ใน 8 อาหารเลิศหรูในวังหลวง แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน การฉลองด้วยฉลามไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว คุณสามารถใช้วัตถุดิบอื่นๆ ที่มีการปรุงแต่งให้มีความเลิศหรู ซึ่งเกิดจากฝีมือของพ่อครัว ไม่ได้เกิดจากวัตถุดิบที่ได้มา ถ้าต้องการบำรุงกำลัง โสมก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดตัวหนึ่ง และการประกอบอาหารขึ้นจากพืชอื่นๆ ก็สามารถบำรุงกำลังได้ เช่น ห่วยซัว ซานเย่า เก๋ากี้ พุทราจีน หรือสมุนไพรอื่นๆ ที่มีมากมาย” อาจารย์แพทย์จีน ระบุ
ด้าน จอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอด ระบุว่า ในโอกาสที่ทุกคนต่างก็อยากเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการทำสิ่งดีๆ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง จึงอยากให้ทุกคนมองว่าการเลิกบริโภคหูฉลาม ถือเป็นสิ่งดีที่ทุกคนควรร่วมใจทำตลอดไป และรณรงค์ให้ทุกคนเลิกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฉลาม เพื่อที่จะไม่ต้องเห็นบนโต๊ะอาหารอีกต่อไป
แหล่งที่มา: greennews.agency