เมืองคาร์บอนต่ำ ต้นแบบสู่การลดมลพิษแบบยั่งยืน
“การมีบ้านเมืองที่สะอาด อากาศที่ดี รถบนท้องถนนวิ่งด้วยไฟฟ้า ไร้มลพิษหรือกลิ่นให้กวนใจ การบริหารจัดการขยะได้ดี สะอาด มองไปรอบๆ พบกับต้นไม้สีเขียวขจีคอยให้ร่มเงาเราอยู่” ที่เอ่ยมาข้างต้นคงเป็นเมืองในจินตนาการของใครหลายคน เชื่อหรือไม่มันสามารถเกิดขึ้นจริงได้ และวันนี้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว เราเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City)”
เมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) คือ เมืองที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมุ่งมั่นพัฒนาไปสู่เป้าหมายอย่างยั่งยืน ซึ่งแนวคิดคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) ถูกพูดถึงครั้งแรกโดย UNFCCC ณ เมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ในปี พ.ศ.2535 โดยองค์การสหประชาชาติ เผยว่า ภาวะโลกร้อนส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ถึง 80% ในการผลิตก๊าซเรือนกระจก มากที่สุดคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคาร์บอน (CO2) โดยมีที่มาจากการเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมัน ร้อยละ 85 เกิดจาก และสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาคส่วนขยะ ร้อยละ 15 สำหรับในประเทศไทยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทีมงานที่ร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ โดยนำร่องที่บ้านเกิดจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งการวางแผนยุทธศาสตร์ เพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ จะมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายกับภาคส่วนหลักที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ การวางผังเมือง ระบบการขนส่งสีเขียว การประหยัดพลังงาน การนําพลังงานทดแทนมาใช้ และพลวัตในเมือง
ประกอบด้วยเสาหลัก 4 ประการ ดังนี้
1.การเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิงจากน้ํามัน
2.ขยายการจัดจําหน่าย และการใช้พลังงานสะอาด
3.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว
4.การดักเก็บ/สะสมคาร์บอน ผ่านภาคการดูดซับ
เมื่อกำหนดยุทธศาสตร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในด้านของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเติบโตสีเขียว (Green growth) บนพื้นฐานของเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย
1. การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ หันมาลดการใช้พลังงานและทรัพยากร ด้วยการประหยัดพลังงาน พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น อย่างโครงสร้างอุตสาหกรรมให้ปรับเป็นการใช้พลังงานต่ำพร้อมทั้งใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด และลดการปล่อยมลพิษให้เหลือต่ำที่สุด
2. การลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยใช้พลังงานทดแทน มีการบังคับใช้กฎระเบียบในการปล่อยก๊าซคาร์บอน การสร้างโครงสร้างพื้นฐานคาร์บอนต่ำ พัฒนาให้ผลิตภัณฑ์สีเขียวเป็นที่นิยม
3. การสร้างการเติบโต โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว และการลงทุนในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวให้เป็นเทคโนโลยี ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการผลิตที่สร้างมลพิษต่ำ โดยผ่านการประหยัดพลังงาน และทรัพยากรในทุกๆกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม
ตัวอย่างโครงการที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการโรงเรียนสีเขียวในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี จำนวน 135 แห่ง ที่สนับสนุนการจัดการขยะ แปรรูปขยะ เพื่อนำมาสู่กระบวนการรีไซเคิล-อัพไซเคิล และวิสาหกิจชุมชนปฏิวัติขยะ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ที่รับซื้อขยะพลาสติกจากชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาลฯลฯ นำมาแปรรูปด้วยขบวนการ Pyrolysis กลั่นเป็นน้ำมันดีเซลและเบนซิน เพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกในราคาเพียงลิตรละ 20 บาท โดยนายวราวุธฯ ในนามมูลนิธิ บรรหาร-แจ่มใส ศิลปอาชา ได้มอบทุนสนับสนุน 100,000 บาท เป็นต้น
การพัฒนาไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำนั้น ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนอย่างเสมอมา ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันจึงทำให้ทุกคนร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อพัฒนาไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำนั่นเอง