แฉ! พ.ร.บ. บังคับใช้ “หาของป่า” เก็บเห็ด-เก็บหน่อไม้ ผิดกฏหมาย จำคุก 5 ปี ปรับอีก 5 แสน
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เผยข้อมูล ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับผ่าน สนช. บังคับใช้หาของป่า เก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
วันนี้ (28 ม.ค. 2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับผ่าน สนช. เปิดเผยว่า “เก็บเห็ด เก็บหน่อ เก็บบุก เก็บผึ้ง ก็ทำไม่ได้แล้วนะ หากร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับผ่าน สนช. นี้
กลายเป็น พ.ร.บ. ที่มีผลบังคับใช้จริง เพราะ “ของป่า” ไม่ได้ถูกให้คำนิยามและบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะไม่มีการอนุญาตให้เก็บหาของป่าในอุทยานแห่งชาติ หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง “ของป่า” ถูกนิยามและระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาชน ซึ่งหมายถึง สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรืออยู่ตามธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ
เป็นต้นว่า ถ่าน เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ เมล็ด ผลไม้ หน่อไม้ ชันไม้ น้ำมันจากไม้ ยางไม้ หญ้า อ้อ พง แขม ปรือ คา กก กระจูด กล้วยไม้ กูด เห็ดรา เฟิร์น ตะไคร่ สาหร่าย พันธุ์ไม้น้ำ ส่วนของพืชสมุนไพร รังนก ครั่ง รังผึ้ง น้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง ไข มูลสัตว์ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ ปิโตรเลียม”
จากนั้นระบุอีกว่า “ชุมชนที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่หมู่บ้านหรือตำบล หรือกลุ่มบุคคลซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เดียวกันและมีวัฒนาธรรม จารีต ประเพณีร่วมกัน” นี่คือนิยามของคำว่า “ชุมชน” ในร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับประชาชนที่ร่วมกันยื่นเสนอเป็นร่างคู่ขนาน
แต่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่กำลังอยู่ในชั้นกรรมาธิการขณะนี้กลับไม่มีการนิยามคำว่า “ชุมชน” ไว้เลย แต่มีการกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินการ ตลอดจนมาตรการแก้ไขปัญหาประชาชนที่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติในมาตรา 63
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ตอบสนองเจตนารมณ์ที่ว่า ชุมชนมีส่วนร่วมในการประกาศจัดตั้ง และการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ
ตลอดจนเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่อยู่อาศัยหรือทำกินอยู่แล้วในอุทยานแห่งชาติ จริงหรือไม่? หรือ “สิทธิชุมชน” ตามรัฐธรรมนูญจะถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลและหน่วยงานรัฐต่อไป?”
ล่าสุด เวลา 10.30 น. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เขตงานน่าน จำนวน 20 ราย ร่วมยื่นหนังสือให้ สนช. ชะลอการพิจาณา ร่าง พรบ.อุทยานแห่งชาติ ถึงประธาน สนช. ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน
โดยมอบให้ นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และนายนิทรรศ เวศวินิจ ผอ.ทสจ.น่าน เป็นผู้รับหนังสือ ณ ศูนย์ราชการจังหวัดน่าน
สำหรับการยื่นหนังสือนี้ มีข้อเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติออกไปก่อน และควรเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปรับแก้เนื้อหาให้สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้อย่างยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
แหล่งที่มา: http://tdaily.us/