ไทยนำร่องใช้ ‘ปลอกคอ’ แก้ไขปัญหา ‘ช้างป่า’ ส่งสัญญาณดาวเทียมจับตำแหน่ง-พฤติกรรม
อุทยานฯ-WWF เผยความสำเร็จติด “ปลอกคอช้างป่า” ครั้งแรกในไทย หวังแก้ปัญหาความขัดแย้งคน-ช้างพื้นที่ป่าตะวันออก
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ร่วมกันแถลงความสำเร็จในการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมให้กับช้างป่า เพื่อติดตามพฤติกรรมและการเคลื่อนที่ของฝูงช้างป่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของทางออกระหว่างคนและช้างป่าในพื้นที่ประสบปัญหา
สำหรับโครงการติดปลอกคอช้างป่า จะขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดย WWF ประเทศไทยได้วางแผนส่งมอบชุดปลอกคอช้างเชื่อมต่อสัญญาณดาวเทียม จากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ให้กับ อส. รวมทั้งสิ้น 6 ชุด เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดตามแผนงานโครงการ โดยส่งมอบเพื่อทดลองติดตั้งแล้ว 3 ชุด พร้อมกับร่วมลงพื้นที่ติดตามและทำงานวิจัยร่วมกับเจ้าหน้าที่
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดี อส. เปิดเผยว่า ปลอกคอชุดแรก 3 เส้นที่นำเข้าจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ จากความร่วมมือของ WWF และเครือข่ายนักวิจัยในสถาบันวิทยาศาสตร์ อาทิ พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนี่ยน สหรัฐอเมริกา ได้ถูกนำมาใช้ในการติดตามช้างป่า โดยข้อมูลที่ได้รับจะถูกนำมาใช้วางแผนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ร่วมกับชุมชนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้างให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่า ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ครอบคลุม 5 จังหวัด กว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงได้นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศโดยการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม ซึ่งเป็นวิธีที่หลายประเทศนำมาใช้และได้ผลดี โดยปลอกคอนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของช้างป่าแน่นอน เพราะผ่านการพัฒนา วิจัย และทดลองใช้มาแล้วทั่วโลก
“ในขณะที่ช้างป่าได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ความเหมาะสมของถิ่นอาศัยได้ลดลง รวมถึงพื้นที่ป่าถูกบุกรุกเพื่อนำไปใช้ในการเกษตรและเพาะปลูก ด้านชุมชนก็ได้รับผลกระทบจากความเสียหายของพืชผลที่ไม่สามารถนำไปจำหน่ายและเป็นการสูญเสียรายได้ ซึ่งในบางครั้งก่อให้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ด้วย” นายปิ่นสักก์ กล่าว
นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กล่าวว่า ชุดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมนี้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการนำอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุด มาติดเข้ากับช้างป่าได้อย่างเป็นผลสำเร็จ โดยเครื่องส่งสัญญาณจะมีอายุการใช้งาน 5-10 ปี ส่วนสายรัดทำจากโพลีเมอร์ผสมยางพารา มีความคงทน และยังสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติเมื่อผ่านการใช้งานประมาณ 6-7 ปี
“ชุดปลอกคอนี้โดยมากมักนำมาใช้กับสัตว์ที่เคลื่อนที่ได้ในระยะไกลและหาตัวได้ยาก โดยสัญญาณจะถูกส่งไปยังระบบดาวเทียม ก่อนส่งผ่านข้อมูลลงมายังภาคพื้นดินและผู้รับ ซึ่งอุปกรณ์นี้มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เพราะมีความแม่นยำ โดยเบื้องต้นเราจะสังเกตและเฝ้าระวังในกรณีช้างออกจากป่า ข้อมูลพิกัดของช้างที่ส่งมาจะทำให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงตำแหน่งได้อย่างรวดเร็ว” นายศุภกิจ กล่าว
ด้าน น.ส.เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWF สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า WWF และภาคีเครือข่ายด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า มีต้นแบบของกระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ป่าในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเรื่องของช้างป่าถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของประเทศไทย โดย WWF และ อส. จะร่วมกันดำเนินงานวิจัยและติดตั้งปลอกคอ เพื่อวางแผนรับมือปัญหาในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม
แหล่งที่มา: greennews.agency