หนังสือพิมพ์ฉบับแรก
การพิมพ์หนังสือได้เข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกโดยหมอสอนศาสนาชาว อเมริกันมาตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเป็นแห่งแรก โดยใช้ตัวพิมพ์อักษรไทยในปี พ.ศ. 2379 ในขั้นต้นยังต้องส่งตัวพิมพ์อักษรไปหล่อยังต่างประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2384 จึงหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นได้เองในประเทศไทย
การพิมพ์หนังสือไทยเมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 นั้น ส่วนมากใช้พิมพ์หนังสือสอนศาสนาคริสเตียนเป็นพื้น เอกสารของรัฐบาลที่พิมพ์ออกครั้งแรก คือ ประกาศห้ามเรื่องสูบฝิ่นและนำฝิ่นเข้ามาเมืองไทย พ.ศ. 2382 เป็นใบปลิว 9,000 ฉบับ และในรัชกาลที่ 3 นี้เอง หมอบรัดเลย์ก็ได้พิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรกขึ้น มีชื่อว่า "บางกอกรีคอร์เดอร์"
หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์นี้เป็นหนังสือพิมพ์รายเดือนฉบับแรกมีกำหนด ออกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387 หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกได้ประมาณปีเศษก็ต้องหยุดกิจการ เพราะภรรยาหมอบรัดเลย์ถึงแก่กรรม ท่านได้พาบุตรทั้ง 3 กลับไปอเมริกา และกลับมาอีกครั้งในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่บ้านพักริมคลองบางกอกใหญ่และเปิดดำเนินการพิมพ์ หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์อีก ระหว่าง พ.ศ. 2408 - 2410 จึงได้เลิกเนื่องจากหมอบรัดเลย์แพ้คดีหมิ่นประมาทกงศุลฝรั่งเศส หนังสือพิมพ์ที่ท่านพิมพ์ยังมี บางกอกกาลันเดอร์ (Bangkok Calender) เป็นภาษาอังกฤษ หนังสือจดหมายเหตุ (Thai Recorder) เป็นภาษาไทย หนังสือ (Bangkok Advertiser) และบันทึกประจำวันของหมอบรัดเลย์ (Bradley's Journal) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังรับแปลและพิมพ์เอกสารต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ จดหมายเหตุหม่อมราโชทัย จินดามณี กฎหมายตราสามดวง หนังสือวรรคดีที่แปลจากภาษาจีน ทั้งยังได้เรียบเรียงพจนานุกรมอังกฤษ - ไทย และอักขราภิธานศรับท์ด้วย
กรมศิลปากร