มธ.พายเรือล่องเจ้าพระยา ‘ปากน้ำโพ-กทม.’ เก็บขยะกว่า 2 ตัน-เตรียมแยกยี่ห้อแจ้งผู้ผลิต
ธรรมศาสตร์นำทีมหน่วยงานรัฐ-ปชช. พายเรือเก็บขยะเจ้าพระยา ผ่านแล้ว 12 วัน รวมขยะได้กว่า 2 ตัน เตรียมแยกยี่ห้อแจ้งบริษัทผู้ผลิตช่วยมีส่วนร่วม
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เปิดเผยถึงความคืบหน้าของกิจกรรม “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา-เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย” เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2561 ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้กิจกรรมได้ดำเนินเข้าสู่วันที่ 12 โดยมีการพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำผ่านมาแล้ว 9 จังหวัด รวมระยะทางกว่า 360 กิโลเมตร ซึ่งสามารถเก็บขยะไปได้แล้วมากกว่า 2 ตัน และเชื่อว่าจะได้มากถึง 2.5 ตัน ภายหลังกิจกรรมสิ้นสุดในวันที่ 23 ธ.ค.นี้
ผศ.ปริญญา กล่าวว่า แม้จะรวบรวมขยะได้เป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่ได้มากกว่าคือความตื่นตัวจากประชาชน และหน่วยงานภาครัฐ ในทุกจังหวัดที่เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมตลอดทั้งเส้นทาง ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ไม่ได้หวังเพียงความตื่นตัวในการรักษาแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เป็นแม่น้ำทุกสายที่ทั้งหมดล้วนเป็นต้นตอของปัญหาขยะในทะเลมากถึง 80% ซึ่งในวันนี้ยังได้มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการริมแม่น้ำ ในการเลิกทิ้งขยะตลอดจนปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง
“นอกจากนี้ ภายหลังจบงานเราจะรวบรวมและแบ่งแยกประเภทของขยะทั้งหมดที่เก็บได้ ว่ามาจากผลิตภัณฑ์ใด ยี่ห้อใดบ้าง เพื่อวิเคราะห์และนำไปสู่การแก้ไขที่ต้นเหตุ คือการให้บริษัทผู้ผลิตเหล่านั้นร่วมรณรงค์เรื่องการทิ้งขยะไปกับเราด้วย รวมไปถึงการแก้ปัญหาที่พบอื่นๆ เช่น ในพื้นที่ตกปลาซึ่งพบขยะมากเป็นพิเศษ หรือแม้แต่เรือโยงในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างขยะ ก็จะไปเชิญชวนพวกเขาให้เห็นถึงความสำคัญเรื่องนี้” ผศ.ปริญญา กล่าว
นายสุทิน คุ้มนุ่น นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการที่กรมฯ ได้ร่วมติดตามไปในกิจกรรมและช่วยคัดแยกขยะเพื่อสรุปยอดรวมจำนวนทั้งหมด พบว่าปริมาณขยะที่เก็บได้ในแต่ละจังหวัด ประกอบด้วย นครสวรรค์ 162 กิโลกรัม อุทัยธานี 46 กิโลกรัม ชัยนาท 175 กิโลกรัม สิงห์บุรี 110 กิโลกรัม อ่างทอง 130 กิโลกรัม พระนครศรีอยุธยา 377 กิโลกรัม ปทุมธานี 280 กิโลกรัม นนทบุรี 121 กิโลกรัม และกรุงเทพมหานคร 300 กิโลกรัม รวมทั้งหมดประมาณ 1,800 กก.
นายวิทยา ประกอบปราณ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากเส้นทางพายเรือในกิจกรรม ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ถึง จ.พระนครศรีอยุธยา คพ.ได้กำหนดให้เป็นแหล่งน้ำประเภทที่ 2 ซึ่งต้องมีค่าออกซิเจนละลายน้ำมากกว่าหรือเท่ากับ 6 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสามารถวัดได้ตั้งแต่ 5.7-6.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วน จ.พระนครศรีอยุธยา ลงมาจนถึง จ.สมุทรปราการ ได้กำหนดให้เป็นแหล่งน้ำประเภทที่ 3 ที่ต้องซึ่งต้องมีค่าออกซิเจนละลายน้ำมากกว่าหรือเท่ากับ 4 มิลลิกรัมต่อลิตร และสามารถวัดได้เพียง 2.8-4.1 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น
“จากการร่วมตรวจสอบคุณภาพน้ำตลอดเส้นทาง พบว่าในจุดที่สามารถเก็บขยะได้มากจะมีคุณภาพน้ำที่ด้อยลงด้วยเช่นเดียวกัน” นายวิทยา กล่าว
ขณะเดียวกัน ภายในกิจกรรมยังได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำ ระหว่างองค์กรสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยมหิดล กรมเจ้าท่า รวมทั้งโรงแรมและศูนย์การค้าชั้นนำภายใต้ชื่อ Bangkok River Partners ที่ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ สี่พระยา
ด้าน นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่ามีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม โดยมีเรือลำเลียงพร้อมเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ร่วมปฏิบัติการตั้งแต่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2561 และจะไปสิ้นสุดที่วัดพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ในวันที่ 23 ธ.ค. 2561 รวมระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางของแม่น้ำเจ้าพระยาผ่าน 10 จังหวัด เพื่อเป็นการรณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้คนไทย ไม่ทิ้ง ไม่เทขยะ หรือสิ่งสกปรกลงในแม่น้ำลำคลอง หรือแหล่งน้ำต่างๆ
แหล่งที่มา:greennews