ความเป็นจริงและความเพ้อฝันกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่
แท่งตึกที่โผล่เสียดฟ้าขึ้นกลางเมืองหลวงทุกวี่วันอยู่ภาวะล้นเกิน แม้กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะยังคงนิยามตัวเองว่าเป็น “เมืองน่าอยู่” ทว่ากลับสวนทางความเป็นจริงสำหรับสถานที่พักอาศัย เพราะนอกจากการจราจรจะแออัดมากขึ้นทุกวันแล้ว พื้นสีเขียวใน กทม. กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามทิศทางการเติบโตของเมือง
แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) พยามเข็นมาตรการออกมาควบคุมการกู้ซื้อบ้านหลังที่สองหลังที่สาม แต่นั่นไม่ใช่นโยบายผลักดันให้ กทม.เร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือชะลอการสร้างตึกสูงเพิ่มมากขึ้น ตรงกันข้าม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงได้สิทธิ์เดินหน้าใช้ทุกพื้นที่พัฒนาเมืองให้ขยายตัวต่อไป
การขยายตัวของเมืองออกไปสู่หัวเมืองปริมณฑล และความแออัดอาจเป็นปัจจัยบวกและแรงกระตุ้นให้ความต้องการห้องพักอาศัยแคบๆเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การซื้อเก็งกำไรเป็นการลงทุนที่ยังไม่ซบเซาเงา การขยายตัวตามแรงกระตุ้นด้านการตลาดก็อาจจะใช่บางส่วน หรือจะด้วยประชากรทั่วสารทิศยังคงมุ่งหน้าสู่เมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบให้เมืองลดความน่าอยู่ลงทุกวัน
แต่การที่ กทม.วางเป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. เป็น 9 ตรม./คน เทียบเท่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก เมื่อพิจารณาจากตัวเลขประชากรในเมืองกรุงร่วม 10 ล้านคน (รวมประชากรแฝง) ที่ทำให้พื้นที่เขียวเหลือเพียง 3.54 ตรม./คน เป็นเรื่องชวนสงสัยว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่พื้นที่สีเขียวจะเพิ่มได้มากขนาดนั้น เว้นแต่ยกเลิกนำที่ดินรัฐผืนใหญ่ใจกลางเมืองไปสร้างห้างสรรพสินค้าและโรงแรม
ในขณะเดียวกัน ตราบที่ระบบขนส่งมวลชนยังเป็นง่อยเต่าคลาน, การโซนนิ่งเมืองล้มเหลว เช่น โซนที่อยู่อาศัย ย่านการค้า, ชานเมืองไม่มีระบบสาธารณูปโภครองรับเพียงพอ ฯลฯ นั่นหมายความว่าปริมาณออกซิเจนควรมากกว่าการปล่อย CO2
เสน่ห์ของกรุงเทพฯ ค่อยหดหายลงเรื่อยๆ ความน่าอยู่ของกรุงเทพฯ คงเป็นเพียงวาทกรรม แต่ท้ายที่สุดคงเป็นได้แค่เมืองในจินตนาการ (ว่าสักวัน) มันจะดีขึ้นกว่าเดิม
แหล่งที่มา: greennews