สมดุลระหว่างคนกับช้าง
ปัจจุบันช้างป่าอาศัยอยู่ทุกประเทศในเอเชีย ส่วนประเทศไทยนั้นมีประชากรช้างป่าราว 3,341 ตัว โดยอาศัยอยู่ในกลุ่มป่าทั้ง 9 แห่ง ของประเทศไทย กลุ่มป่าตะวันตก 642-734 ตัว, กลุ่มป่าแก่งกระจาน 487-500 ตัว, กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เข้าใหญ่ 501 ตัว, กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว 489 ตัว และกลุ่มป่าตะวันออก 423 ตัว มากที่สุดตามลำดับ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น โดยช้างป่ากลุ่มป่าตะวันออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ต่อปี เป็นต้น
ปัญหาระหว่างคนกับช้างป่านั้นเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการล่าช้างเพื่อเอางาหรือถลกหนัง การสวมสิทธิช้าง การบุกรุกถิ่นอาศัย และปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในเรื่องของการบุกรุกทำลายพืชผลทางการเกษตร กระทั่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงต่อคนหรือช้างป่าเองในที่สุด แต่ละพื้นที่นั้นมีบริบทที่แตกต่างกัน ทั้งปัญหาน้อยใหญ่ และวิธีการแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้างจึงต้องวิเคราะห์ตามบริบทของแต่ละประเทศหรือกลุ่มป่านั้นๆ เพื่อปรับใช้และหาความเหมาะสมต่อไป
เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร คุณภาณุเดช เกิดมะลิ กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดปัญหาระหว่างคนกับช้างว่า ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่และบริบทของสัตว์ผู้ล่า ยกตัวอย่างในป่าตะวันตกเองยังไม่เกิดปัญหามากนักเพราะสัตว์ป่าผู้ล่าอย่างเสือโคร่งยังคอยช่วยควบคุมประชากรลูกช้าง แต่ในหลายพื้นที่ไม่มีสัตว์ป่าผู้ล่าขนาดใหญ่ทำให้ไม่มีสิ่งควบคุมประชากรสัตว์ป่าเหล่านี้ กลายเป็นช้างป่าเพิ่มจำนวนมากขึ้น และทำให้เกิดปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันอาจจะเกิดปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ป่าบางพื้นที่ บางพื้นที่อาจจะกำลังเกิดก็ได้
และอีกหนึ่งสาเหตุคือถิ่นอาศัยของช้างที่อยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะปิด หรือก็คือพื้นที่โดยรอบถูกแวดล้อมด้วยพื้นที่เกษตรและชุมชนทำให้ช้างไม่สามารถอพยพเคลื่อนย้ายไปมาได้อย่างอิสระดังเช่นในอดีต ทำให้ช้างป่าออกมานอกพื้นที่ สร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร แหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ยกตัวอย่างป่าตะวันตกที่เป็นป่าผืนใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ 11.7 ล้านไร่ ซึ่งเป็นป่าผืนเดียวที่มีขนาดใหญ่ ช้างป่าสามารถเดินไปได้ทั่วเหมาะกับพฤติกรรมที่สามารถเดินไกลได้ แต่กับบางกลุ่มป่านั้นถูกตัดขาด บางพื้นที่เป็นเพียงหย่อมป่า ดังเช่นกลุ่มป่าตะวันออกที่มีพื้นที่ราว 1 ล้านกว่าไร่ ขณะที่มีช้างป่ามีจำนวน 423 ตัว ซึ่งจำนวนนี้ไม่ถือว่า Overpopulation พื้นที่ยังเพียงพอต่อการอยู่อาศัยของช้าง
แต่ข้อมูลจากโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่ารบกวนประชาชน ระบุไว้ช่วงหนึ่งว่า ช้างป่าออกมานอกพื้นที่ป่า 4,845 ครั้ง สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน 85 รายการ พืชผล 2,115 ไร่ ทำร้ายประชาชนบาดเจ็บ 92 ราย และเสียชีวิต 27 ราย และปรากฏช้างตาย ตั้งแต่ปี 2557-2561 จำนวน 35 ตัว โดยปี 2560 นั้น ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติและแก้ไขปัญหาช้างรบกวนประชาชนแล้ว และนอกจากนี้ยังมีประชาชนแก้ไขปัญหาไม่ถูกวิธีเช่นการทำรั้วไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานจึงทำให้ยิ่งกระตุ้นให้ช้างมีพฤติกรรมก้าวร้าวและดุร้ายมากขึ้นนั่นเอง ด้านแหล่งข่าวเล็งเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจึงต้องนำมาพิจารณาว่าอะไรเป็นสาเหตุและหามาตรการแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป
ทั้งหมดทั้งมวลนำมาสู่ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการแก้ไขปัญหาช้างรบกวนประชาชน ในวันที่ 26-27 กันยายน 2561 ที่จัดโดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผ่านการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนประชาชนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับช้างป่าและบริบทปัญหาในแต่ละพื้นที่กลุ่มป่า แลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ การเยียวยาชุมชน ฯลฯ และนำไปสู่การออกแบบมาตรการการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ เกิดเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์ต่อช้างป่าและคนได้อยู่ร่วมกันได้ต่อไป
โดยมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด มูลนิธิอนุรักษ์ช้างสามเหลี่ยมทองคำ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครื่อข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี (Power of Kuiburi) เป็นวิทยากรภายในงาน ผ่านการบรรยาย การอภิปราย และลงมือภาคปฏิบัติเพื่อระดมความคิด ถอดบทเรียน และจัดทำแผนการจัดการช้างป่าในระดับกลุ่มป่าทั้ง 9 กลุ่มป่า อันได้แก่ (1) กลุ่มป่าตะวันตก (2) กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (3) กลุ่มป่าภูพาน (4) กลุ่มป่าตะวันตก (5) กลุ่มป่าแก่งกระจาน (6) กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว (7) กลุ่มป่าพนมดงรัก-ผ้าแต้ม (8) กลุ่มป่าเขาหลวง และ (9) กลุ่มป่าฮาลา-บาลา
ด้านการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่านั้นแบ่งได้ 2 ส่วน
(1) การจัดการช้างป่าในพื้นที่อนุรักษ์ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่การสร้างความอุดมสมบูรณ์ในที่นี้มิได้หมายถึงการปลูกป่าในพื้นที่อนุรักษ์ แต่เป็นการดูแลความต้องการของสัตว์เป็นสำคัญ ทั้งแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ หรือแหล่งโคลนที่ช้างชอบเล่นเกลือกกลิ้งตามธรรมชาติของช้าง ถ้าไม่พอก็จำเป็นต้องเสริมเพื่อให้ช้างป่าสามารถดำรงชีวิตอยู่ในป่าอนุรักษ์ได้อย่างสบาย
(2) การจัดการช้างป่านอกพื้นที่อนุรักษ์ การบริหารจัดการนอกพื้นที่อนุรักษ์ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่กลุ่มป่า และแก้ปัญหาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ไป
“วันนี้คงไม่พูดว่าใครผิดใครถูก แต่เราต้องหาวิธีการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าอย่างสมดุล”
อยู่ดีๆ เราจะไปจะไปจัดการกับช้างนั้นไม่สามารถทำได้ และในขณะเดียวกันหากเราละเลยชุมชนโดยรอบก็จะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามองช้างเป็นศัตรู และอาจกลายเป็นปัญหาได้ในอนาคต คุณภาณุเดชกล่าว
โดยจากการประชุมทำให้เห็นภาพรวมปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในประเทศไทยชัดเจนขึ้น และเล็งเห็นตรงกันว่าควรมีฐานข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับช้างป่าในแต่ละพื้นที่เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน อนึ่งเพื่อให้คนกับช้างได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย