หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

เปิดรากต้นกำเนิด "สัญลักษณ์ประเทศ" ในนาม "ธงไตรรงค์" กว่าจะเป็น "ธงชาติไทย" ให้เคารพ

โพสท์โดย NgamYangThaiEveryday

เปิดรากต้นกำเนิด "สัญลักษณ์ประเทศ" ในนาม "ธงไตรรงค์" กว่าจะเป็น "ธงชาติไทย" ให้เคารพ 

   ธงชาติไทย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงินขาบ ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า

  ความหมายสำคัญของธงไตรรงค์นั้นหมายถึงสถาบันหลักทั้งสามของประเทศไทย คือ ชาติ (สีแดง) ศาสนา (สีขาว) และพระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน) สีทั้งสามนี้เองคือที่มาของการเรียกชื่อธงนี้ว่าธงไตรรงค์ (ไตร = สาม, รงค์ = สี)

    สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระรัตนตรัยและธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์  แม้นิยามดังกล่าวจะไม่ใช่คำอธิบายที่ทรงประกาศให้ใช้อย่างเป็นทางการ แต่ทั้งสามสิ่งนี้คืออุดมการณ์รัฐที่พระองค์ทรงปลูกฝัง เพื่อให้คนไทยเกิดสำนึกความเป็นชาตินิยมมาตลอดรัชสมัยของพระองค์

   ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ ใน พ.ศ. 2470 เพื่อรวบรวมความคิดเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงธงชาติจากบุคคลกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีการเปลี่ยนธงชาติหลายครั้ง กรมราชเลขาธิการได้รวบรวมความเห็นเรื่องนี้จากที่ต่าง ๆ รวมทั้งในหนังสือพิมพ์ เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งในบรรดาเอกสารดังกล่าว ปรากฏว่าในหมู่ผู้ที่สนับสนุนให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป ได้มีการให้ความหมายของธงที่กระชับกว่าเดิม กล่าวคือ สีแดงหมายถึงชาติ สีขาวหมายถึงพุทธศาสนา สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ไปเล็กน้อย แต่ยังครอบคลุมอุดมการณ์ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้เช่นเดิม และยังเป็นที่จดจำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

กำเนิดธงสยาม

(ธงแดงเกลี้ยง สำหรับใช้เป็นที่หมายของเรือสยามโดยทั่วไป (ยังไม่ใช่ธงชาติสยาม) นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา)

   ประวัติศาสตร์การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย สามารถสืบได้แต่เพียงความว่า มีการใช้ธงสำหรับเป็นเครื่องหมายของกองทัพกองละสีและใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องสำหรับเรือกำปั่นเดินทะเลทั่วไปมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และยังไม่มีธงชาติไว้ใช้ดังที่เข้าใจในปัจจุบัน ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวตามความในจดหมายเหตุต่างประเทศแห่งหนึ่งว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) เรือค้าขายของฝรั่งเศสลำหนึ่งได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ของไทยไว้ว่า ปกติคนต่างชาติที่ล่องมาทางเรือจะไปอยุธยา ต้องผ่านเจ้าพระยา ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเกิดที่ป้อมวิไชยเยนทร์ หรือป้อมฝรั่ง เพราะพระยาวิชเยนทร์ เกณฑ์แรงงานฝรั่งมาสร้างไว้ ปัจจุบันคือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ ปกติเรือสินค้าสำคัญ เรือที่มากับราชทูตที่จะผ่านต้องมีธรรมเนียมประเพณีคือ ชักธงประเทศของเขาบนเรือ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่า มาถึงแล้ว เมื่อเรือฝรั่งเศสชักธงชาติของตัวเองขึ้น ฝ่ายสยามยิงสลุตคำนับตามธรรมเนียม ซึ่งขณะเดียวกันสยามเองต้องชักธงขึ้นด้วย เพื่อตอบกลับว่า ยินดีต้อนรับ แต่ตอนนั้นทหารประจำป้อมวิไชยเยนทร์ไม่เคยพบประเพณีแบบนี้ และสยามไม่มีธงสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นธงชาติมาก่อน จึงคว้าผ้าที่วางอยู่แถวนั้น ซึ่งดันหยิบธงชาติฮอลันดาชักขึ้นเสาแบบส่งเดช เมื่อทหารฝรั่งเศสเห็นก็ตกใจไม่ยอมชักธงและไม่ยอมยิงสลุต จนกว่าจะเปลี่ยน เพราะการที่ได้ชักเอาธงชาติฮอลันดา(ปัจจุบันคือประเทศเนเธอร์แลนด์) ซึ่งในขณะนั้นฝรั่งเศสกับฮอลันดาเป็นศัตรูกัน) ฝ่ายไทยได้แก้ปัญหาโดยชักผ้าสีแดงขึ้นแทนธงชาติฮอลันดา ฝรั่งเศสจึงยอมยิงสลุตคำนับตอบ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ธงชาติไทย[5] โดยทหารสยามประจำป้อมก็เปลี่ยนเป็นผ้าสีแดงที่หาได้ในตอนนั้น และต้นกำเนิดธงก็เริ่มขึ้น นับจากนั้น ธงที่ใช้ไม่ว่าจะใช้บนเรือหลวง เรือราษฎร ใช้บนป้อมประจำการก็ล้วนเป็นสีแดง

รัชกาลที่ 1 - พ.ศ. 2386

 

   ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเรือหลวงและเรือค้าขายของเอกชนยังคงใช้ธงสีแดงล้วนเป็นเครื่องหมายเรือสยาม จึงได้มีการนำสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาประดับบนธงพื้นสีแดงเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นธงสำหรับเรือหลวง ในกฎหมายธงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปจักรสีขาวลงในธงแดง สำหรับใช้เป็นธงของเรือหลวง" สาเหตุที่พระองค์กำหนดให้ใช้ "จักร" ลงไว้กลางธงผ้าพื้นแดงสำหรับชักในเรือกำปั่นหลวง เพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างเรือของพระมหากษัตริย์ กับเรือของราษฎรสยาม ที่ใช้ธงผ้าพื้นแดงเกลี้ยง

   ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอก 3 ช้าง คือพระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์ นับเป็นเกียรติยศยิ่งต่อแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักรของเรือหลวงไว้ด้วย อันมีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก แต่ธงช้างอยู่ในวงจักรใช้แต่เรือหลวงเท่านั้น เรือพ่อค้ายังคงใช้ธงแดงตามเดิม

พ.ศ. 2386 - พ.ศ. 2459

(ธงช้างเผือก ธงชาติสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)

   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยมีการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกมากขึ้น อันเป็นผลต่อเนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2398 พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า สยามจำเป็นต้องมีธงชาติใช้ตามธรรมเนียมชาติตะวันตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติสยามแต่เอารูปจักรออก เนื่องจากมีเหตุผลว่า จักรเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระองค์พระมหากษัตริย์และธงพื้นสีแดงที่เอกชนสยามใช้ทั่วไปซ้ำกับประเทศอื่นในการติดต่อระหว่างประเทศ ธงนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือเอกชน แต่เรือหลวงนั้นทรงกำหนดให้ใช้พื้นเป็นสีน้ำเงินขาบชักขึ้นที่หัวเรือ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับแยกแยะว่าเป็นเรือหลวงด้วย ธงนี้มีชื่อว่า ธงเกตุ (ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นธงฉานของกองทัพเรือไทยในปัจจุบัน) แต่ต่อมามีการค้นพบหลักฐานใหม่เป็นหนังสือพิมพ์ Supplement of The Singapore Free Press ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2386 โดยได้อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ The Canton Press ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม 2386 ระบุว่า มีกองเรือของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม ได้นำเครื่องราชบรรณาการมาแวะที่ท่าเรือสิงคโปร์เพื่อที่จะเดินทางไปยังประเทศจีน เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการแด่องค์จักรพรรดิจีน โดยยังได้ระบุอีกว่ามีกองเรือของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยามจำนวน 3 ลำ ซึ่งท้ายเรือมีการประดับธงช้างเผือกแบบไม่มีจักร ซึ่งเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าได้เริ่มที่การใช้ธงช้างเผือกเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี

ธงแดงขาว 5 ริ้ว (พ.ศ. 2459)

   ธงช้างเผือกเปล่าได้ใช้เป็นธงชาติสยามสืบมาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2459 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัยและทอดพระเนตรเห็นธงช้างของราษฎรซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จไว้ถูกติดกลับหัว เนื่องจากในยุคนั้นธงช้างถือว่าเป็นของหายาก มีราคาแพง เพราะต้องสั่งทำจากต่างประเทศ อีกทั้งธงช้างที่มีขายบางแบบนั้นผลิตมาจากประเทศที่ไม่รู้จักช้าง รูปร่างของช้างที่ปรากฏจึงไม่น่าดู และหากผู้ใช้ประมาทชักธงช้างกลับด้าน ก็จะกลายเป็นที่เสื่อมเสียแก่พระเกียรติยศ พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตร และราษฎรสามารถทำใช้เองได้จากวัสดุภายในประเทศ เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีกต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว ซึ่งธงนี้เรียกว่า ธงแดงขาว 5 ริ้ว (ชื่อในเอกสารราชการเรียกว่า ธงค้าขาย) ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานราชการของรัฐบาลสยามยังคงใช้ธงช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์

   แต่ใช้รูปช้างเผือกแบบทรงเครื่องยืนแท่น ซึ่งแต่เดิมธงนี้เป็นธงสำหรับเรือหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2440 และมีฐานะเป็นธงราชการอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2453 แต่ต่อมามีการค้นพบหลักฐานใหม่ซึ่งพบว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรีได้มีพระราชประสงค์ในการเปลี่ยน เพิ่มแบบธงสำหรับธงสำหรับชาติสยามใหม่ สำหรับประชาชนเพื่อใช้ในการค้าขาย ล่องเรือระหว่างประเทศและใช้ประดับบนบกซึ่งมีบันทึกอยู่ใน เรื่องเปลี่ยนธงสำหรับชาติสยาม (๘ พ.ค. - ๖ มิ.ย. ๒๔๕๙) โดยมีการบันทึกว่า "เพราะ การค้าขายของเรานั้นเห็นว่าจะเจริญแล้ว จึงได้ใช้ธงชนิดนี้ขึ้นใหม่สำหรับการค้าขาย และเป็นธงทั่วไปด้วย นอกจากธงราชการ" แต่เรากลับยึดเอาหลักฐานจากวชิราวุธานุสรณ์ ๒๔๙๖ซึ่งเป็นบันทึกของจมื่นอมรดรุณารักษ์ โดยได้บันทึกว่าในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2459 ได้มีการประดับธงช้างเผือกกลับหัวรับเสด็จ อันเป็นเหตุยุติการใช้ธงช้างเผือก แต่ในจดหมายเหตุรายวัน เล่ม ๒ พระพุทธศักราช ๒๔๕๙ วันที่ ๑๔ กันยายน ถึง วันที่ ๑๐ มีนาคม ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ระบุว่า "วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ (กันยายน 2459) เวลาเข้า ๔ โมงเศษ ไปลงเรือเก้ากิ่งยามที่ท่าวาสุกรี เรือกลไฟจึงขึ้นมาตามลำน้ำ แวะกินกลางวันที่วัดไก่เตี้ย แขวงเมืองประทุมธานี, และเดินเรือต่อมาจนค่ำถึงบางปะอิน; พักแรม ๑ คืน" ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่จมื่นอมรดรุณารักษ์ได้บันทึกไว้ ทำให้เราเข้าใจผิดกันมาโดยตลอด

(ธงชัยเฉลิมพลกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ด้านหน้า)

(ธงชัยเฉลิมพลกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ด้านหลัง)

ธงไตรรงค์ (พ.ศ. 2460 - ปัจจุบัน)

   ในปี พ.ศ. 2460 แถบสีแดงที่ตรงกลางธงค้าขายได้เปลี่ยนเป็น สีขาบ (เป็นชื่อสีโบราณอย่างหนึ่งของไทย คือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วง) ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เหตุผลที่ทรงเพิ่มสีขาบลงในธงชาติสยามนั้น มาจากการได้ทอดพระเนตรบทความแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้นามแฝงว่า “อแคว์ริส” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ภาษาอังกฤษ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2460 ซึ่งระบุว่า ธงชาติสยามแบบใหม่ที่ทดลองใช้อยู่ในเวลานั้น (ธงแดงขาว 5 ริ้ว ซึ่งกำหนดให้ใช้เป็นธงค้าขาย) ยังมีลักษณะที่ไม่สง่างามเพียงพอ และได้เสนอแนะว่าริ้วกลางของธงควรเพิ่มสีน้ำเงินขาบลงไปอีกสีหนึ่ง ด้วยเหตุที่ว่า

1.สีน้ำเงินขาบเป็นสีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ (สีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ วันเสาร์)

2.เมื่อเปลี่ยนแปลงเช่นนี้แล้วธงชาติสยามก็จะเป็นธงสามสีในทำนองเดียวกันกับธงชาติของประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งน่าจะทำให้ทั้งสามประเทศพอใจประเทศสยามยิ่งขึ้นเพราะเสมือนว่าได้ยกย่องชาติเหล่านั้น

3.การมีสีของสถาบันพระมหากษัตริย์ในธงชาติ จะเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระองค์ในวาระที่ชาติสยามเข้าสู่เหตุการณ์สำคัญต่างๆ

   พระองค์ได้ทรงทดลองเขียนแบบธงตามบทความดังกล่าวแล้วทรงเห็นว่างดงามดีและเห็นด้วยกับบทความดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีน้ำเงินนั้นนอกจากจะเป็นสีแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วยังเป็นสีทรงโปรดเพราะเป็นสิริแก่พระชนมวารตามคติโหราศาสตร์ไทยอีกด้วย ต่อมาทรงมอบหมายให้เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาประสิทธิศุภการ)เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบกในเวลานั้น เพื่อนำแบบธงไปถวายเพื่อทูลขอความเห็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้นทรงเห็นชอบเช่นกัน และมีรับสั่งว่าถ้าเปลี่ยนในขณะนั้นจะได้เป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีภูริปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ร่างประกาศแก้แบบธงชาติ และได้ทรงนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะเสนาบดีเพื่อฟังความเห็น ที่ประชุมลงมติเห็นชอบแบบธงชาติสยามที่คิดขึ้นใหม่ และประกาศใช้ตามความในธงพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460

   ธงชาติแบบใหม่นี้ได้อวดโฉมต่อสายตาชาวโลกครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งกองทหารอาสาของไทยได้ใช้เชิญไปเป็นธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วย อย่างไรก็ตาม ธงไตรรงค์ที่สร้างขึ้นสำหรับกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นไม่ใช่ลักษณะอย่างธงไตรรงค์ตามที่กำหนดให้ใช้ในปัจจุบันและโดยทั่วไป แต่มีการเพิ่มรูปสัญลักษณ์พิเศษลงในธงด้วย โดยด้านหน้าธงนั้นเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นในวงกลมพื้นสีแดง ลักษณะอย่างเดียวกับธงราชนาวีไทย (ทั้งนี้กำหนดแบบใหม่ให้ใช้พร้อมกันในคราวประกาศเปลี่ยนธงชาติด้วย) ด้านหลังเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร. ๖ สีขาบ ภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมีสีเหลืองในวงกลมพื้นสีแดง ที่แถบสีแดงทั้งแถบบนแถบล่างทั้งสองด้านจารึกพุทธชัยมงคลคาถาบทแรก (ภาษาบาลี) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทหารอาสาของไทยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชนิพนธ์แก้ไขในตอนท้ายจาก "ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน) เป็น "ตนฺเตชสา ภวตุ เม ชยสิทฺธินิจฺจํ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยชนะจงมีแก่ข้าพเจ้าเสมอ)

   อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนธงชาติสยามจากธงช้างมาสู่ธงไตรรงค์นั้นมีผู้ที่เสียดายธงช้างเดิมอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นธงชาติสยามที่นานาประเทศรู้จักกันทั่วไปมาเป็นเวลานานแล้ว และธงไตรรงค์นั้นก็มีลักษณะที่พ้องกับธงชาติของประเทศอื่นบางประเทศ อาจก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้พบเห็นได้ ในปี พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า ธงชาติไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว ควรหาข้อกำหนดเรื่องธงชาติให้เป็นการถาวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบรรทึก พระราชทานไปยังองคมนตรี เพื่อให้เสนอความเห็นของคนหมู่มากว่า จะคงใช้ธงไตรรงค์ดังที่ใช้อยู่เป็นธงชาติต่อไป หรือจะกลับไปใช้ธงช้างแทน หรือจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติ กับวิธีใช้ธงไตรรงค์อย่างไร นอกจากนี้ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมราชเลขาธิการตัดข่าวจากหนังสือพิมพ์เพื่อรวบรวมความเห็นต่างๆ ของสาธารณชนเกี่ยวกับธงชาติเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยด้วย ผลปรากฏว่าความเห็นขององคมนตรีแตกต่างกระจายกันมาก จึงมิได้กราบบังคมทูลข้อชี้ขาด ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชวินิจฉัยลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป

   หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลต่าง ๆ ยังคงรับรองฐานะของธงไตรรงค์ให้เป็นธงชาติของประเทศสยามต่อไป โดยมีการตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์ และหลังการเปลี่ยนชื่อประเทศในปี พ.ศ. 2482 ส่งผลให้รัฐบาลประกาศเปลี่ยนชื่อธงชาติสยามเสียใหม่เป็น "ธงชาติไทย" ตามไปด้วย แต่ก็ยังคงประกาศให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์ ซึ่งพระราชบัญญัติธงทั้งสองฉบับนี้ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงถ้อยความบรรยายลักษณะธงชาติในพระราชบัญญัติธงใหม่ให้ชัดเจนขึ้น แต่ยังคงรูปแบบธงตามที่ได้บัญญัติไว้ครั้งแรกในพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2460 ไว้เช่นเดิม วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ประชุมซึ่งนำโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น วันพระราชทานธงชาติไทย (อังกฤษ: Thai National Flag Day) โดยให้เริ่มในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นปีแรก แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

โพสท์โดย: NgamYangThaiEveryday
แหล่งที่มา: เรื่องเก่าเล่าสนุก https://www.facebook.com/ruangkaolaosanuk/
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
NgamYangThaiEveryday's profile


โพสท์โดย: NgamYangThaiEveryday
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
4 VOTES (4/5 จาก 1 คน)
VOTED: เยี่ยหัว
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
รพ.ธรรมศาสตร์ แถลงอัปเดตการรักษา 2 เด็ก นร.ประสบอุบัติเหตุรถบัสไฟไหม้เพจดังแฉ กระบะจอดขายของ ล็อกล้อตัวเอง ตบตาเจ้าหน้าที่ กว่า 4 ปีความจริงกระจ่าง! เจอแล้วเงินหมื่นตา 76 ที่ให้ลูกสาวนำ ATM มาถอนที่แท้ระบบดูดกลับอัตโนมัติ ยกมือไหว้ขอโทษพ่อค้าลอตเตอรี่เผยโฉมเจ้าของ"วังบูรพาภิรมย์" ในอดีตความสวยงามที่มาพร้อมความผิดปกติสถานทูตไทยในอิหร่านเตือนคนไทย'เฝ้าระวัง'!!ฉันแข็งแกร่งพอที่จะเชื่อความคิดของตัวเอง!พนักงาน 7-11 ช่วยกันดันประตูร้านในขณะที่พายุไต้ฝุ่นพัดกระหน่ำอยู่พฤติกรรม “เคยชิน” บอกอะไรในตัวคุณ“ 10 ข้อคิด พลิกมุมคิดให้ชีวิตงดงาม “ภัยพิบัติฝนตกหนักในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ทำลายสถิติ 249 มม.พี่สาวเมาป่วนงานแต่ง พ่อแม่ยังมาขอให้จ่ายค่าบำบัดให้เธออีก
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
เผยโฉมเจ้าของ"วังบูรพาภิรมย์" ในอดีตสถานทูตไทยในอิหร่านเตือนคนไทย'เฝ้าระวัง'!!ฉันแข็งแกร่งพอที่จะเชื่อความคิดของตัวเอง!พนักงาน 7-11 ช่วยกันดันประตูร้านในขณะที่พายุไต้ฝุ่นพัดกระหน่ำอยู่ภัยพิบัติฝนตกหนักในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ทำลายสถิติ 249 มม.ความจริงกระจ่าง! เจอแล้วเงินหมื่นตา 76 ที่ให้ลูกสาวนำ ATM มาถอนที่แท้ระบบดูดกลับอัตโนมัติ ยกมือไหว้ขอโทษพ่อค้าลอตเตอรี่
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
5 กับดักชีวิตที่ควรก้าวข้ามถ้าอยากมีชีวิตที่ดีเผยโฉมเจ้าของ"วังบูรพาภิรมย์" ในอดีตคำว่า'เริ่ดสะแมนแตน'มาจากไหน?เรื่องฝังใจในวัยเด็กร่องรอยของความทรงจำที่ไม่เลือนหาย
ตั้งกระทู้ใหม่