เผยวิธีการ "รับเงินแวต" คืนแบบง่ายๆ มีเงินใช้จ่ายเพิ่ม ของ "ผู้ถือบัตรคนจน"
เผยวิธีการ "รับเงินแวต" คืนแบบง่ายๆ มีเงินใช้จ่ายเพิ่ม ของ "ผู้ถือบัตรคนจน"
หลังจากเมื่อวันที่ 7ก.ย.61 ที่ผ่านมานั้นทางนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้ออกมาเปิดเผยข่าวการคืนแวต VAT ให้ผู้ที่ถือบัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการรัฐ จำนวนกว่า 11.4 ล้านคน ที่มียอดการใช้จ่าย 7,000 - 8,000 บาท/เดือน โดยมีการคืนเงินสูงสุด 500 บาท/เดือน/คน ซึ่งจะมีกำหนดการเริ่มจ่ายคืนในเดือนพฤศจิกายน - เมษายน 2562 ในระยะทดลอง 6 เดือนแรกถึงผลตอบรับของประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐ หลังจากข่าวนี้ออกไปได้มีประชาชนตั้งคำถามกันอย่างมากว่าทำเช่นไรหรือซื้อสินค้าเท่าไหร่ถึงจะได้รับ VAT คืน และหากได้คืนจะได้คืนเท่าไหร่ วันนี้สำนักข่าวทีนิวส์ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อไขคำตอบที่หลายคนสงสัยดังนี้
การที่จะได้รับเงินคืนของผู้ถือบัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการรัฐนั้นต้องมีการซื้อสินค้าและบริการจากร้านธงฟ้าประชารัฐหรือร้านเอกชนอื่นๆ ที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านเครื่องอีดีเอ็ม ที่มีการเชื่อมต่อระบบคืนเงินภาษี POS ทั้งนี้ในเบื้องต้นทางทางสมาคมธนาคารไทยยังไม่สามารถทำให้เครื่องชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องอีดีซีของธนาคารพาณิชย์รับบัตรผู้มีรายได้น้อยและแจ้งจำนวนมูลค่าภาษีแวตที่จะได้รับคืนไปทางกรมบัญชีกลางได้ คาดว่าในเดือนที่ 2 และ 3 น่าจะเริ่มใช้กับร้านค้าทั่วไป หากได้รับความนิยมเชื่อว่าจะมีร้านค้าที่ยังไม่ได้มาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะมาจดกับกรมสรรพากรมากขึ้นเพราะทำให้ขายของได้เพิ่มขึ้น
ซึ่งขั้นตอนในการโอนเงิน VAT คืนทางรัฐจะมีการโอนคืนทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไปที่มีการชื้อสินค้า คำนวณ VAT ตั้งแต่วันที่ 1 - 30 ของเดือนที่ใช้จ่าย ซึ่งมีเกณฑ์การคืน VAT 7% แบ่งออกได้ 3 ส่วน คือ
1. จำนวน 5% จะคืนเงินให้ผู้ถือบัตร ด้วยการโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ E-Money ในวันที่ 15 ของทุกเดือน เงินส่วนนี้สามารถนำบัตรคนจนไปกดเป็นเงินสดออกมาใช้ หรือรูดซื้อของตามร้านธงฟ้าฯ และร้านค้าอื่นๆ ที่ร่วมโครงการได้
2. จำนวน 1% จะเก็บเข้าบัญชีกองทุนการออมแห่งชาติของผู้ถือบัตร เพื่อเป็นเงินออมของผู้มีรายได้น้อย หรือหากไม่มีบัญชีการออมก็จะมีการเปิดบัญชีเพื่อสะสมไว้ โดยให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า
3. จำนวน 1% ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต้องจ่ายภาษีเองตามปกติ
อย่างที่บอกไปคือไม่ใช่ว่าซื้อสินค้าเท่าไหร่ก็จะได้เงินคืนเท่านั้นเลย แต่มีกำหนดไว้ว่าเงินภาษีที่จะคืนให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่ที่ 6% เงินโอนเข้าบัตร 5% บวกเงินออม 1% ซึ่งจะต้องไม่เกินเดือนละ 500 บาท/ คน ทั้งนี้ ถ้าผู้มีรายได้น้อย อยากได้เงินภาษีคืนสูงสุด 500 บาท จะต้องมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรในเดือนนั้นเป็นเงิน 8,400 บาท แปลว่าเราจะต้องนำเงินสดใส่เพิ่มเข้าไปในบัตร แล้วค่อยนำไปรูดซื้อสินค้าผ่านบัตรให้ครบแต่ถ้าเป็นการใช้จ่ายผ่านบัตรแบบเต็มวงเงินสูงสุดที่ได้รับ โดยไม่เติมเงินสดเพิ่มเข้าไป ก็จะได้รับเงินภาษีคืนตามอัตรา ดังนี้
1. ผู้ที่ได้วงเงิน 200 บาท/เดือน (กลุ่มที่มีรายได้เกินปีละ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) จะได้รับเงินภาษีคืนสูงสุดที่ 12 บาท/เดือน (200 x 6%) แบ่งเป็นเงินโอนเข้าบัตร 10 บาท และเงินออมเข้าบัญชีกองทุนการออมแห่งชาติอีก 2 บาท ต้องสะสมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเบิกได้
2. ผู้ที่ได้วงเงิน 300 บาท/เดือน (กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 30,000 บาท หรือกลุ่มที่มีรายได้เกินปีละ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ที่เข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพ) จะได้รับเงินภาษีคืนสูงสุดที่ 18 บาท/เดือน (300 x 6%) แบ่งเป็นเงินโอนเข้าบัตร 15 บาท และเงินออมเข้าบัญชีกองทุนการออมแห่งชาติอีก 3 บาท ต้องสะสมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเบิกได้
3. ผู้ที่ได้วงเงิน 500 บาท/เดือน (กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 30,000 บาท ที่เข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพ) จะได้รับเงินภาษีคืนสูงสุดที่ 30 บาท/เดือน (500 x 6%) แบ่งเป็นเงินโอนเข้าบัตร 25 บาท และเงินออมเข้าบัญชีกองทุนการออมแห่งชาติอีก 5 บาท ต้องสะสมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเบิกได้
แล้ววิธีการเติมเงินใส่บัตรสวัสดิการรัฐนั้นต้องทำเช่นไรเรามาดูวิธีกันเลยหากใครอยากได้รับเงินแวต (VAT) 500 บาท โดยจะแบ่งช่องทางการเติมเงินเข้าบัตรคนจนครั้งแรก สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วย 2 ช่องทาง ดังนี้
1). ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย
โดยให้นำบัตร ATM ที่ต้องการหักเงินเข้าบัตรสวัสดิการรัฐ ไปทำรายการได้เลย ณ ตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย ตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. เลือก "บริการถอน/โอน/อื่นๆ"
2. เลือก "โอน/กระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์"
3. เลือกประเภทบัญชีที่ต้องการหักบัญชี (บัตร ATM เราเป็นเงินฝากประเภทไหนก็เลือกประเภทนั้น)
4. เลือกรายการ "บัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์"
5. ใส่หมายเลข 16 หลักของบัตรคนจนที่ต้องการเติมเงินเข้าไป
6. ระบุจำนวนเงินที่ต้องการได้ตั้งแต่ 100-30,000 บาท
2). ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ
สำหรับใครที่ไม่อยากทำรายการด้วยตัวเองผ่านตู้ ATM ก็สามารถเติมเงินได้ผ่านธนาคารกรุงไทยทุกสาขา ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้อยู่แล้วส่วนการเติมเงินครั้งต่อไป สามารถทำได้ผ่านหลากหลายช่องทาง ได้แก่
1. ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา
2. เครื่อง ADM ธนาคารกรุงไทย
3. เครื่อง ATM ธนาคารกรุงไทย
4. แอปพลิเคชัน KTB netbank
ในส่วนของการกดเงินสดออกมาก็ง่ายดายเช่นกันเมื่อทำการเติมเงินเข้าไปในบัตรสวัสดิการรัฐแล้ว เราก็จะสามารถนำไปใช้ถอนเงินสดได้เหมือนกับบัตร ATM ทั่วไป โดยรหัสที่ใช้ถอนเงินครั้งแรก จะเป็นเลข 6 หลักสุดท้ายของบัตรประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐซึ่งเราสามารถเปลี่ยนรหัสทันทีได้ที่ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย ตามขั้นตอนนี้
1. สอดบัตรและใส่รหัสเดิมให้ถูกต้อง
2. เลือกบริการ "อื่นๆ"
3. เลือก "เปลี่ยนรหัส ATM"
4. ทำการตั้งรหัสผ่านใหม่จำนวน 6 หลัก
และเรายังนำเงินที่เติมไว้ในบัตรไปใช้ทำธุรกรรมอื่นๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฝากเงิน โอนเงิน ผ่านตู้ ATM/ADM ธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศแบบฟรีค่าธรรมเนียม , ชำระค่าสินค้าตามจุดรับเงินต่างๆ ที่รองรับบัตรคนจน และชำระสินค้าตามร้านค้าอื่นๆ ที่มี เครื่องหมาย PromptCard
จากทั้งหมดที่รวบรวมข้อมูลมาทางสำนักข่าวทีนิวส์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์และข้อมูลให้หลายคนได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับบัตรสวัสดิการรัฐให้มากขึ้นและเข้าใจการรับเงิน VAT คืนอย่างถูกต้อง